มธ.ท่าพระจันทร์ 20 มิ.ย.-เวทีเสวนาตรวจสอบการจัดการท้องถิ่น ยุทธศาสตร์ชาติต้องมีค่านิยมทุจริตเป็นอันตรายต่อประเทศ ขณะที่สตง.ย้ำการใช้เงินแผ่นดินต้องเป็นลายลักษณ์อักษร
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดงานเสวนา “ท้องถิ่น” VS “สตง.” กระบวนการตรวจสอบการจัดการท้องถิ่น การให้อำนาจกับส่วนท้องถิ่น คือสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ ? ถอดรหัสปัจจัยที่เอื้อต่อการทุจริตที่กระจายไปทุกพื้นที่ของประเทศไทย โดยมีนายโกวิทย์ พวงงาม คณบดีคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มธ. นายมณเฑียร เจริญผล รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และนายบุญญภัทธ์ ชูเกียรติ ผู้อำนวยการศูนย์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นแห่งมธ. ร่วมเป็นวิทยากร
นายโกวิทย์ กล่าวว่า การกระจายอำนาจลงสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยเฉพาะอำนาจการจัดบริการสาธารณะจะช่วยป้องกันการทุจริตได้ เพราะหน่วยงานที่จะตรวจสอบการดำเนินการของส่วนกลางมีน้อยกว่าการตรวจสอบส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ มองว่าสังคมไทยยังมีปัญหาเรื่องสิทธิพลเมือง รัฐบาลยังละเลยการให้ข้อมูลเรื่องสิทธิของประชาชน โดยเฉพาะสวัสดิการแห่งรัฐ ขณะเดียวกันยุทธศาสตร์ชาติของไทยไม่กำหนดสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น
“ยุทธศาสตร์ชาติต้องปฏิรูปความคิดของคนไทยให้มีค่านิยมว่าการทุจริตเป็นสิ่งอันตรายต่อประเทศ ขณะเดียวกันเมื่อดูตัวเลขการร้องเรียนการทุจริตจะพบว่าเรื่องร้องเรียนการทุจริตในส่วนท้องถิ่นมีน้อยลง ซึ่งจากสถิติยังพบว่าการทุจริตการจัดซื้อจัดจ้างยังเป็นเรื่องใหญ่ของประเทศ นอกจากนี้ พบว่าในอดีตมีการเรียกเงินในบรรจุเข้าสู่ตำแหน่งต่าง ๆ ของท้องถิ่น แต่หลังจากที่มีมาตรา 44 ย้ายการสอบบรรจุมาขึ้นอยู่กับส่วนกลาง ซึ่งไม่ทราบว่ายังมีการเรียกเงินเพื่อเข้าสู่ตำแหน่งอยู่หรือไม่” นายโกวิทย์ กล่าว
นายบุญญภัทร์ ชูเกียรติ ผู้อำนวยการศูนย์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นแห่งมธ.กล่าวว่า ทั้งอปท.และสตง.ทำหน้าที่ของตนเอง ซึ่งอปท.มีหน้าที่จัดบริการสาธารณะ ขณะที่สตง.มีหน้าที่ตรวจสอบกาใช้จ่ายเงิน แต่ที่ผ่านมามีปัญหาและการตีความไม่ตรงกัน เช่น การตีความหน้าที่และอำนาจการใช้เงินในการบริหารท้องถิ่นที่ไม่ตรงกันของสตง.กับอปท. ส่งผลให้อปท.ถูกตรวจสอบการใช้จ่ายเงินว่า ไม่เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ ซึ่งการดำเนินการของอปท.ตามหนังสือสั่งการของกระทรวงมหาดไทยถูกตรวจสอบและร้องเรียนโดยสตง. เนื่องจากสตง.มองว่าหนังสือสั่งการ ไม่ใช่ระเบียบทางราชการ จึงอยากให้กระทรวงมหาดไทยออกระเบียบอย่างถูกต้องตามกฎหมายและต้องการให้ สตง.ยืดหยุ่นเรื่องหนังสือสั่งการ เพื่อที่อปท.จะได้นำงบประมาณไปใช้จ่ายอย่างถูกต้อง
นายมณเฑียร เจริญผล รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าวว่า ปัญหาใหญ่คือ ทำไมสตง.มีสองมาตรฐาน ทำไมสตง.ตรวจสอบไม่เท่ากัน ทำอย่างไรจะแก้ปัญหาท้องถิ่นให้หมดไป สตง.จึงได้พูดคุยกับท้องถิ่นแบบเปิดอก พร้อมตั้งคณะกรรมการกำหนดแนวปฏิบัติเพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างสตง.กับท้องถิ่น และได้สกัดออกมาเป็นบัญญัติ 7 ประการ ซึ่งเป็นหลักการทำงานของสตง.กับท้องถิ่น โดยมีกรอบแนวคิดหลักว่าการใช้จ่ายเงินแผ่นดินจะต้องทำหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร ประกอบการดำเนินการ การเบิกจ่ายตามที่กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรี(ครม.) และหนังสือสั่งการของกระทรวงมหาดไทยกำหนด อย่าทำเอกสารที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง ไม่เช่นนั้นจะถือว่ามีความผิดทางอาญา ข้อหาจัดทำเอกสารเท็จ
“บัญญัติ 7 ประการของสตง.กับอปท. กำหนดว่า 1. อำนาจหน้าที่ของ อปท.คือ จัดระบบบริการสาธารณะให้ประชาชน 2. อปท.ต้องมีแผนพัฒนาท้องถิ่น ที่รับฟังความเห็นจากประชาชน โดยสตง.จะตรวจแผนพัฒนาท้องถิ่นของทุกอปท. 3. อปท.ต้องนำโครงการที่อยู่ในแผนพัฒนาท้องถิ่นมาจัดทำงบประมาณเท่านั้น และต้องมีรายละเอียดของกิจกรรมอย่างชัดเจน กิจกรรมต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ ไม่ตั้งงบประมาณที่อยู่นอกแผนพัฒนาท้องถิ่น 4. การเบิกจ่ายงบประมาณเป็นไปตามระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่งและหนังสือเวียน หากไม่มีระเบียบหรือข้อบังคับเขียนไว้ ไม่สามารถกระทำได้ 5. การใช้ดุลยพินิจต้องชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย ใช้เงินเท่าที่จำเป็น เหมาะสมและประหยัด 6. ประชาชนในพื้นที่ได้รับผลประโยชน์โดยรวม ไม่แข่งขันกับเอกชน ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือขัดกัน และ 7. การดำเนินการต้องเปิดเผย โปร่งใส จัดทำเอกสารให้ถูกต้อง ตรวจสอบได้” นายมณเฑียร กล่าว.- สำนักข่าวไทย
