ลำพูน18 มิ.ย. – สนพ.เตรียมปรับแผนสมาร์ทกริด อาจดึงเอกชนเข้าร่วมตามหลัก Social Enterprise (SE) หวังชาวบ้านมีไฟฟ้าใช้ทั่วประเทศ ล่าสุดจัดทำต้นแบบไมโครกริดชุมชน ที่ จ.ลำพูน ให้มีไฟฟ้าใช้และมีความเป็นอยู่ดีขึ้น เริ่มจ่ายไฟมิถุนายนนี้
นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า สนพ.อยู่ระหว่างปรับปรุงแผนแม่บทพัฒนาโครงข่ายสมาร์ทกริดแห่งประเทศไทยปี 2558-2579 เพื่อตอบสนองยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านพลังงาน เทคโนโลยีใหม่ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งภายในปี 2564 มีการพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริดนำร่อง 3-5 พื้นที่ของทั้งกองทุนส่งเสริมเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เบื้องต้นจะส่งเสริมในพื้นที่ห่างไกล เพื่อให้ประชาชนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ได้มีไฟฟ้าใช้ก่อน ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ชุมชนที่อยู่ในป่าและการปักเสาพาดสายอาจทำไม่ได้ เพราะติดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและต้นทุนบริหารจัดการสูง
“ตามแผนแม่บทสมาร์ทกริด ทุกภาคส่วนทั้งจากภาครัฐ ทั้ง 3 การไฟฟ้าและภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และผู้ใช้ไฟฟ้านั้น ต่างก็มีบทบาทในการพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริด โดยตัวเลขสิ้นปี 2560 พบว่าไทยมีครัวเรือนไม่มีไฟฟ้าใช้ 33,656 ครัวเรือน (ร้อยละ 0.28ของ ครัวเรือนไทย) โดย 24,652 ครัวเรือนอยู่ในแผนขยายสายส่งแต่อีก 7,114 ครัวเรือน ติดปัญหาพื้นที่ป่า จุดนี้จะพิจารณาเรื่องไมโครกริดให้เกิดการผลิตและใช้พลังงานในพื้นที่ ซึ่งต้องผสมผสานพลังงานทดแทน หรือฟอสซิล และระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) หากจะให้ยั่งยืนอาจดึงเอกชนเข้าร่วมลงทุนตามแผน SE โดยชาวบ้านในพื้นที่มีส่วนร่วม” นายทวารัฐ กล่าวล่าสุดกระทรวงพลังงานโดยการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน จึงได้มอบหมายให้สมาคมพลังงานทดแทนเพื่อความยั่งยืน (สพย.) ด้วยงบ 88 ล้านบาท ดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนทุรกันดารขยายผลตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการติดตั้งระบบต้นแบบไมโครกริด (Micro Grid) และวางระบบสายส่งไฟฟ้าชุมชนตามศักยภาพการใช้งานแต่ละพื้นที่ โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วม นำเทคโนโลยีระบบผลิตไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ร่วมกับระบบกักเก็บพลังงานประสิทธิภาพสูง พร้อมทั้งติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อใช้เพื่อการอุปโภค-บริโภค และสำหรับการเกษตร เป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้เกษตรกรและเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับชุมชน
โดยชุมชนบ้านผาด่าน ชุมชนบ้านแม่สะแง๊ะ และชุมชนบ้านปงผาง อ.แม่ทา จ. ลำพูน ซึ่งเป็นชุมชนที่ขาดแคลนระบบไฟฟ้าและประปา ทางโครงการฯ ทำการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ แบบ Grid Interactive ขนาดกำลังติดตั้ง 102 กิโลวัตต์ พร้อมระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage Systems) ขนาดความจุ 307.20 กิโลวัตต์-ชั่วโมง และเสริมสร้างความมั่นคงของระบบไฟฟ้า ด้วยเครื่องกำเนิดไฟฟ้า พร้อมวางโครงข่ายไฟฟ้าชุมชน โคมไฟถนน และระบบสูบน้ำแต่ละชุมชน ซึ่งช่วยให้ชุมชน 365 ครัวเรือน มีไฟฟ้าและน้ำเพียงพอต่อความต้องการ นอกจากนั้นยังร่วมกับชุมชนวางระบบบริหารจัดการรายได้ เพื่อนำมาใช้ดูแลบำรุงรักษาระบบในระยะยาวเพื่อให้เกิดความยั่งยืน โดยเริ่มจ่ายไฟฟ้าได้ในเดือนมิถุนายน 2561 ชุมชนจะมีส่วนร่วมในการดึงไฟฟ้าจากโครงข่ายไฟฟ้าชุมชนเข้าสู่ครัวเรือนแต่ละหลังผ่านมิเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งแต่ละครัวเรือนจะใช้ไฟฟ้าได้ไม่เกิน 500 วัตต์
นายดำรงค์ จินะกาศ นายกเทศมนตรีตำบลทากาศเหนือ อ.แม่ทา จ.ลำพูน เปิดเผยว่า 3 ชุมชนนี้มีปัญหาขาดแคลนระบบไฟฟ้า เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวตั้งอยู่ในพื้นที่เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า ทำให้ไม่สามารถดำเนินการติดตั้งเสาไฟฟ้าได้ ชาวบ้านจึงต้องจุดเทียนและจุดตะเกียงเพื่อให้แสงสว่างยามค่ำคืน การสัญจรค่อนข้างลำบาก เพราะไม่มีไฟถนน ดังนั้น การที่กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานเข้ามาช่วยดำเนินการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์และระบบกักเก็บพลังงานประสิทธิภาพสูงให้จะช่วยให้ชาวชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการทอผ้าในช่วงกลางคืน จากเดิมทอผ้าได้ในช่วงเวลากลางวัน เป็นต้น.- สำนักข่าวไทย