ลำพูน 14 เม.ย. – กว่าจะกลายมาเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังในวิหารครอบรอยพระพุทธบาท วัดพระบาทห้วยต้ม อ.ลี้ จ.ลำพูน อาจารย์จำนง รัตนกูล ใช้เวลาศึกษาวิถีชีวิต ประเพณี รวบรวมข้อมูล ลงมือวาดภาพ ยาวนานกว่า 11 ปี
พบภาพวาดน่าทึ่ง ชาวบ้านปกาเกอะญอในภาพมากถึงกว่า 20,000 คน แต่รูปร่างหน้าตาไม่เหมือนกันเลยสักคน แถมลวดลายเสื้อผ้าก็แตกต่างกันไปตามแต่ละถิ่นฐานว่าอยู่ที่ไหนอีกด้วย รวมแล้วใช้เวลาวาดยาวนานถึงกว่า 11 ปี ตั้งแต่เริ่มหาข้อมูล ปรับพื้นผิวผนัง คลุกคลีกับชาวบ้าน ศึกษาวิถีชีวิต ประเพณี ลงมือวาด จนปรากฏเป็นจิตรกรรมฝาผนังในที่สุด
ที่วิหารครอบรอยพระพุทธบาท วัดพระบาทห้วยต้ม ต.นาทราย อ.ลี้ จ.ลำพูน ภายในวิหารดังกล่าวมีจิตรกรรมทั้ง 4 ผนังของวิหาร เป็นเรื่องราววิถีชีวิต ศิลปะ ประเพณี ตลอดจนความศรัทธาของชาวปกาเกอะญอที่มีต่อพระพุทธศาสนา รวมทั้งภาพของครูบาชัยยะวงศาพัฒนา อดีตเจ้าอาวาสวัดพระบาทห้วยต้ม ที่มรณภาพไปแล้วในขณะประกอบศาสนกิจต่างๆ โดยศิลปินเขียนภาพชาวปกาเกอะญอนับหมื่นคน ให้มีรูปร่าง หน้าตาไม่เหมือนกันเลย และทุกคนที่ศิลปินวาดล้วนแล้วแต่เป็นชาวบ้านในชุมชนพระบาทห้วยต้มเป็นส่วนใหญ่ ทำให้เป็นที่สนใจแก่ผู้ได้พบเห็น ไม่เพียงแต่ความแตกต่างกันทางรูปร่างหน้าตาเท่านั้น แต่ลวดลายของเสื้อผ้าของคนในภาพยังไม่เหมือนกันอีกด้วย

นายวิมล สุขแดง ผู้ใหญ่บ้านแม่หละ หมู่ 17 ต.นาทราย อ.ลี้ เปิดเผยว่า คนทั้งหมดภายในภาพมีกว่า 20,000 คน มีตัวตนอยู่จริงๆ ภายในชุมชนพระบาทห้วยต้มที่มีทั้งสิ้น 11 หมู่บ้าน แต่ละคนจะไม่เหมือนกันเลย มีทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่เด็กเล็ก วัยรุ่น จนถึงผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่จะเป็นชาวบ้านที่นี่ กับอีกส่วนหนึ่งเป็นคนต่างถิ่น เป็นภาพลายไทยประยุกต์ วาดด้วยสีน้ำอะคริลิก เป็นภาพเล่าเรื่องราวของหลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา รวมทั้งเป็นภาพวาดในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินมายังวัดพระบาทห้วยต้ม ในปี 2521, 2522 และปี 2523 เสด็จพระราชทานที่อยู่อาศัย ที่ทำกินให้กับชาวบ้านที่นี่ จนกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ในปัจจุบัน
นายวิมล กล่าวว่า คนเขียนภาพชื่ออาจารย์จำนง รัตนกูล ใช้เวลายาวนานถึงกว่า 6 ปี ในการวาด ไม่รวมระยะเวลาในการศึกษาหาข้อมูลอีกนับปี รวมแล้วอาจารย์จำนงอยู่ที่นี่หรือใช้เวลากว่า 11 ปี สำหรับเขียนภาพทั้งหมด
เริ่มตั้งแต่ปี 2553 อาจารย์จำนง เริ่มศึกษาประวัติของหลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา ไปทุกสถานที่ที่หลวงปู่ไป ไปทุกจุดที่หลวงปู่เคยไปอยู่ เพื่อเก็บข้อมูล เก็บรายละเอียด ปีที่ 2 หรือปี 2554 อาจารย์จำนงเริ่มทำการปรับพื้นผิวของผนังใหม่ทั้งวิหาร จากนั้นตั้งแต่ปี 2555-2556 จึงทำการสเก็ตช์ภาพทั้งหมด พร้อมๆ กับศึกษาวิถีชีวิต วัฒนธรรมของชาวบ้านชุมชนพระบาทห้วยต้ม กระทั่งเข้าสู่ปี 2557 อาจารย์จำนงจึงเริ่มวาดภาพเรื่อยมาจนถึงปี 2563 รวมทั้งสิ้น 6 ปีกว่า .-สำนักข่าวไทย