โรงแรมแชงกรี-ลา 16 มิ.ย.61- พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุมผู้นำ ACMECS Summit ครั้งที่ 8 อย่างเป็นทางการ พร้อมขับเคลื่อนแผนแม่บทระยะ 5 ปี เพื่อสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
ก่อนเริ่มการประชุม ผู้นำจากประเทศนอกภูมิภาค ทั้งจีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลียและเกาหลี รวมถึงองค์กรและสถาบันการเงินระหว่างประเทศ ได้ส่งสารแสดงความยินดีต่อการประชุม ACMECS รวมถึงการขับเคลื่อนแผนแม่บท ACMECS ที่ไทยเป็นผู้ริเริ่ม
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมสุดยอดผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS Summit) ครั้งที่ 8 ภายใต้หัวข้อ “การก้าวไปสู่ประชาคมลุ่มแม่น้ำโขงที่เชื่อมโยงกัน” หรือ Towardsan Integrated and Connected Mekong Community ซึ่งมีผู้นำชาติสมาชิกเข้าร่วม ประกอบด้วย กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย
โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กลุ่มประเทศ ACMECS มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ มีทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ ตั้งอยู่บนพื้นที่ยุทธศาสตร์ เป็น “สะพาน” เชื่อมต่อเศรษฐกิจและตลาดระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิก จึงเป็นที่สนใจของนักลงทุนต่างชาติทั่วโลก แต่ขณะนี้กลุ่มประเทศ ACMECS กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ปัญหาการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ประเทศไทยจึงผลักดันการปฏิรูป ACMECS เพื่อให้พร้อมรับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้น จึงได้เสนอแผนแม่บท ACMECS ระยะ 5 ปีข้างหน้า ตั้งแต่ปี 2562-2566 ภายใต้สโลแกน 3S ได้แก่ การเสริมสร้างความเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อในอนุภูมิภาค การสอดประสานด้านเศรษฐกิจ และการพัฒนาภูมิภาคในลักษณะยั่งยืนและมีนวัตกรรม
ขณะเดียวกัน ไทยเล็งเห็นว่า การดำเนินการภายใต้แผนแม่บท จะขับเคลื่อนด้วยความลำบาก หากยังไม่มีความชัดเจนเรื่องแหล่งเงินทุน จึงเสนอจัดตั้งกองทุน ACMECS หรือ ACMECS Fund เพื่อระดมทุนสำหรับพัฒนาโครงการต่างๆ ภายใต้แผนแม่บท ซึ่งประเทศไทยจะให้ทุนเริ่มต้นในการก่อตั้งจำนวนหนึ่ง จึงขอเชิญชวนประเทศสมาชิก ประเทศในเอเชีย ยุโรป และองค์กรระหว่างประเทศ รวมถึงสถาบันการเงินต่างๆ เข้าร่วมสมทบกองทุน ACMECS เพื่อให้เกิดความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาค
นายกรัฐมนตรี ยังยืนยันว่า รัฐบาลไทยมีมาตรการอำนวยความสะดวกการจ้างแรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเชื่อมโยงการผลิตกับประเทศสมาชิก.-สำนักข่าวไทย