เชียงใหม่ 15 มิ.ย.- ฝีมือคนไทยคิดค้นผงเซรามิกนาโน ที่มีคุณสมบัติโปร่งแสงน้ำหนักเบาลงและประหยัดพลังงานในการเผา กำลังทดลองทำเป็นหลอดไฟ หากสำเร็จจะเป็นคนแรกของโลก
อาจารย์อนิรุทธิ์ รักสุจริต นักวิจัยด้านเซรามิก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ได้ทดลองนำหลอดไฟไปส่องในแจกันเซรามิก ที่ใช้ผงเซรามิกนาโนที่คิดค้นขึ้นมาปั้น ผลปรากฏว่าแสงจากหลอดไฟสามารถส่องทะลุออกมา ราวกับว่าแจกันมีส่วนผสมของวัสดุโปร่งแสง โดยผลงานดังกล่าวเกิดขึ้นจากความสนใจด้านวัสดุและนาโนเทคโนโลยี จึงพยายามหาแนวทางใหม่ๆ เพื่อพัฒนาเซรามิกไทยให้มีคุณภาพ และมีคุณสมบัติที่แตกต่างออกไป รวมถึงแก้ไขกระบวนการผลิตให้ใช้พลังงาน โดยเฉพาะก๊าซแอลพีจีน้อยลง จน 5 ปีก่อนได้ค้นพบเทคนิคที่เรียกว่า สโตนแวร์ ใช้ความร้อนในการเผาลดลงจากเดิม ซึ่งเผาที่อุณหภูมิ 1,250-1,380 องศาเซลเซียส ก็ลดเหลือเพียง 1,150 องศาเซลเซียส ด้วยแนวคิดการผสมสัดส่วนดินความละเอียดสูงระดับนาโนเมตร ซึ่งช่วยลดการใช้พลังงานในการเผาถึง 50% ผลที่ออกมาคือชิ้นงานเซรามิกที่ทำจากดิน คล้ายเซรามิกทั่วไป แต่เบาและเปราะกว่า ซึ่งตอบโจทย์ของผู้ซื้อกลุ่มใหม่ ที่ไม่ชอบความหนาเทอะทะและน้ำหนักมาก และพบว่ามีชิ้นงานบางชิ้นโปร่งแสง จึงได้พัฒนาสโตนแวร์โปร่งแสงขึ้น ขณะนี้ได้ต่อยอดสโตนแวร์โปร่งแสงให้เป็นเฟอร์นิเจอร์ ของใช้ และโคมครอบหลอดไฟ โดยจะผลิตเป็นหลอดไฟถนอมสายตา ถ้าทำสำเร็จก็จะเป็นคนแรกในโลกที่ผลิตหลอดไฟจากดินเหนียว นอกจากนี้ ยังทดลองนำดินนาโนมาขึ้นรูปเป็นเครื่องกรองน้ำอย่างง่ายๆ ซึ่งจะมีการต่อยอดในการใช้งานจริงในเร็วๆ นี้ด้วย.-สำนักข่าวไทย