โรงแรมแชงกรี-ลา 15 มิ.ย.-นายกรัฐมนตรีกัมพูชาหนุนแผนแม่บท ACMECS ปี 2562-2566 ของไทย ขณะที่ผู้นำเมียนมาหวังประชุมครั้งนี้จะสร้างความเข้มแข็งของอนุภูมิภาคมากขึ้น
สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโชฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา กล่าวในการประชุม ACMECS CEO Forum ที่โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ ว่า กัมพูชาเห็นด้วยกับแผนแม่บท ACMECS ปี 2562-2566 ของรัฐบาลไทยที่เน้นการส่งเสริมเพิ่มศักยภาพธุรกิจ SMEs สร้างความเชื่อมโยงระหว่างประเทศสมาชิก และเพิ่มขีดความสามารถการพัฒนาห่วงโซ่การผลิต ขณะเดียวกันกัมพูชายังต้องการบรรลุวิสัยทัศน์ที่จะให้กัมพูชาเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง จึงได้วางนโยบายเศรษฐกิจที่จะตอบสนองความต้องการของภาคเอกชนกัมพูชา โดยเฉพาะการเพิ่มขีดความสามารถของภาคเอกชน จึงนำเสนอมาตรการต่าง ๆ ที่กัมพูชาคิดและดำเนินการมาแบ่งปันกับบรรดา CEO และนักลงทุน
“ปัจจุบันกัมพูชากำลังส่งเสริมการอำนวยความสะดวกด้านการค้าด้วยนโยบาย Single Window เพื่ออำนวยความสะดวกและเร่งรัดการส่งออก-นำเข้าสินค้า รวมทั้งเชื่อมโยเศรษฐกิจดิจิทัล เน้นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ โดยเฉพาะถนนที่เชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ขยายและยกระดับท่าเรือสีหนุวิลล์ความลึก 14 เมตร เพื่อรองรับเรือสินค้าขนาดใหญ่ รัฐบาลกัมพูชากำลังทบทวนลดภาษีไฟฟ้าตั้งแต่ปี 2562 และรักษาเสถียรภาพพลังงานไฟฟ้า เพื่อประโยชน์ของภาคการผลิต” นายกรัฐมนตรี กัมพูชา กล่าว
นายกรัฐมนตรีกัมพูชา กล่าวว่า กัมพูชาอยู่ระหว่างการก่อตั้งธนาคาร SME และให้ทุนเพื่อพัฒนาธุรกิจ รวมทั้งมีมาตรการภายใต้กรอบ SME เพื่อผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ และตอบสนองความต้องการของนักลงทุนตามการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ รวมทั้งกำลังร่างกฎหมายก่อตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ปรับปรุงระบบภาษีให้ทันสมัยมากขึ้น ใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ตลอดจนเพิ่มการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอล
ด้าน นายอู วิน มยิน ประธานาธิบดีเมียนมา กล่าวว่า 15 ปีที่ผ่านมาประเทศสมาชิก ACMECS ร่วมมือแน่นแฟ้นมาโดยตลอด โดยมุ่งเน้นใน 8 ด้าน คือส่งเสริมการค้าและการลงทุน การเกษตร คมนาคม การพลังงาน การท่องเที่ยว การพัฒนามนุษย์ สาธารณสุข และสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ เมียนมาขอแสดงความชื่นชมความริเริ่มของไทยที่จะปรับปรุงความร่วมมือเพื่อให้รัฐบาล ภาคเอกชนและสถาบันการเงิน ของประเทศสมาชิกในภูมิภาคได้ร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น และเชื่อว่าการประชุมครั้งนี้จะเป็นก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่การนำแผนแม่บทมาปฏิบัติตามวัตถุประสงค์ โดยหวังว่าการร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดจะยิ่งส่งเสริมให้อนุภูมิภาคเติบโตมากขึ้น
“ปัจจุบันเมียนมาได้ปฏิรูปเชิงโครงสร้างหลายประการ รวมทั้งออกกฎหมายและกำหนดนโยบาย เพื่อที่จะส่งเสริมการลงทุน โดยตระหนักดีว่าภาคเอกชนคือแรงขับเคลื่อนสำคัญต่อการพัฒนา รัฐบาลจึงพยายามส่งเสริมบทบาทของภาคเอกชนอย่างเต็มที่ในทุก ๆ ด้าน.- สำนักข่าวไทย
