ราชบุรี 14 มิ.ย.-เมื่อปีที่แล้ว กทม.จับตัวเงินตัวทองที่สวนลุมพินีไปไว้ที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน จ.ราชบุรี เพื่อแก้ปัญหาประชากรที่เพิ่มขึ้น แต่ปัจจุบันที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสนกำลังเผชิญกับปัญหาเดียวกัน เพราะมีตัวเงินตัวทองที่ต้องดูแลกว่า 500 ตัว แต่มีพื้นที่รองรับเพียง 2 ไร่ โดยนักวิชาการด้านสัตว์ป่าเสนอให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่เพาะพันธุ์ได้ เพื่อแก้ไขปัญหาตัวเงินตัวทองล้นเมือง
แม้จะอยู่ใจกลางเมือง แต่สวนลุมพินีที่มีทั้งป่าและน้ำ ถือเป็นเป็นแหล่งธรรมชาติที่ตัวเงินตัวทองมักเลือกเป็นที่อยู่อาศัย เพราะระบบนิเวศมีความสมบูรณ์ ก่อนหน้านี้มีการสำรวจพบที่นี่มีพวกมันอาศัยกว่า 400 ตัว ก่อนเจ้าหน้าที่ กทม.จะจับไปปล่อยที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน จ.ราชบุรี เมื่อปีที่แล้ว
ภายในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน มีการแบ่งพื้นที่กว่า 2 ไร่ ให้มันอาศัย ล้อมรั้วด้วยคอนกรีต และมีแผ่นอะลูมิเนียมต่อเติมเพิ่ม ป้องกันไม่ให้พวกมันปีนหนีออกมา
หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสนยอมรับว่า สภาพแวดล้อมของที่นี่ไม่เอื้อต่อการดำรงชีวิตของตัวเงินตัวทอง เพราะตามธรรมชาติแล้ว พวกมันจะชอบอยู่ในที่ที่มีแหล่งน้ำ แต่ที่นี่มีแหล่งน้ำจำกัด แม้จะสร้างเพิ่มแต่ก็ยังไม่เพียงพอ นอกจากนี้ สภาพอากาศในฤดูร้อนมีอุณหภูมิที่ร้อนจัด โดยเฉพาะในช่วงที่ต้นไม้ผลัดใบ
ตัวเงินตัวทองที่อยู่ในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสนทั้งหมด จะเป็นตัวเงินตัวทองที่มีเจ้าหน้าที่จากกรุงเทพฯ และ จ.สมุทรสาคร จับมาส่งมอบให้ดูแล โดยให้เหตุผลว่า ประชาชนในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนจากพวกมัน
ตัวเงินตัวทองที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสนต้องดูแลมีทั้งหมด 540 ตัว ด้วยจำนวนของพวกมันที่ต้องดูแลมีมาก ส่วนสถานที่ก็ไม่ได้เอื้ออำนวย ที่ผ่านมาหัวหน้าสถานีฯ มีความพยายามจะนำไปปล่อยคืนธรรมชาติ แต่ก็ไม่ได้รับอนุญาต จึงต้องดูแลต่อไป ตามงบประมาณที่มีอย่างจำกัด
ตัวเงินตัวทองจัดเป็นสัตว์ที่ถูกคุ้มครองตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ปี 2535 โดยห้ามเลี้ยง ซื้อ ขาย หรือมีการครอบครอง ส่วนสถานการณ์ตัวเงินตัวทองในไทย พบว่ามีการขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว และจับมาทำหมันไม่ได้ ทำให้มันเพิ่มขึ้นมาก จนเกิดกรณีพิพาทกับคน โดยเฉพาะที่สมุทรสาคร เพราะพวกมันเข้าไปกินผลผลิตของชาวประมง
แม้ยังไม่มีข้อมูลจำนวนประชากรตัวเงินตัวทองทั้งหมดในไทยแน่ชัด แต่นักวิจัยสัตว์ป่า และผู้ที่ศึกษาวงจรชีวิตของตัวเงินตัวทอง ระบุว่า พวกมันมีจำนวนประชากรที่ล้นแล้ว เห็นได้จากความขัดแย้งกับคนในบางพื้นที่ พร้อมเสนอให้รัฐบาลปลดล็อกกฎหมายให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ที่สามารถเพาะพันธุ์ได้ เพื่อใช้ประโยชน์ เพราะในตลาดต่างประเทศ พวกมันมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ แทนที่จะจับพวกมันออกจากพื้นที่ไปไว้ที่อื่น ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น
ความพยายามจะถอดตัวเงินตัวทองออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 44 แต่ไม่ผ่านมติคณะรัฐมนตรีในยุคนั้น ส่วนในยุคนี้มีความพยายามอีกครั้ง โดยจะผลักดันให้ใช้ประโยชน์ตัวเงินตัวทองในเชิงเศรษฐกิจได้ เพื่อแก้ปัญหาพิพาทระหว่างคนและตัวเงินตัวทอง.-สำนักข่าวไทย