นครปฐม 14 มิ.ย.-ภายหลังสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ประกาศหาวัดตัวอย่างที่พระไม่จับเงิน เพื่อความโปร่งใส และมีหลายคนยังไม่รู้ว่า พระมีเงินเดือน หรือนิตยภัต และเงินเดือนที่ได้นี้ขัดต่อหลักพระธรรมวินัยที่บัญญัติไว้ในพระไตรปิฎกหรือไม่ สำนักข่าวไทยไปตรวจสอบเรื่องนี้ พร้อมเปิดมุมมองพระและนักวิชาการเรื่องไม่ให้พระจับเงิน
นี่เป็นบัญชี “นิตยภัต” หรือเงินงบประมาณแผ่นดินที่รัฐถวายให้พระสงฆ์ ที่ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ชั้นต่างๆ รวมถึงจีนนิกายและอนัมนิกาย ซึ่งสังคมเข้าใจว่า เงินนิตยภัตคือเงินเดือนพระ พระครูปลัดกวีวัฒน์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชาธิวาส รองเลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย อธิบายว่า “นิตยภัต” มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย สมัยนั้นเรียกว่า “เบี้ยหวัด” เป็นโบราณราชศรัทธาที่พระมหากษัตริย์ถวายให้พระภิกษุสงฆ์ และมีมาจนถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ปรับจากเบี้ยหวัดรายปี เป็นรายเดือน
ในสมัยรัชกาลที่ 5 เปลี่ยนมาใช้คำว่า “นิตยภัต” จนถึงปัจจุบัน และมีระเบียบเบิกจ่ายที่ชัดเจนจากสำนักพุทธฯ หลักการคือ พระสงฆ์เปิดบัญชีธนาคาร ส่งสำเนาให้สำนักพุทธฯ เพื่อโอนเงินเข้าบัญชี หากพระรูปใดที่ต้องการรับเงินสดหรือเช็ค ต้องมอบอำนาจให้ไวยาวัจกรเท่านั้น
โดยอัตราจ่ายนิตยภัตล่าสุด ในตำแหน่งสูงสุดของสงฆ์ คือ สมเด็จพระสังฆราช อยู่ที่ 34,200 บาท/เดือน รองลงมาในตำแหน่งสมเด็จพระราชาคณะ กรรมการมหาเถรสมาคม ประมาณ 20,000 บาท/เดือน เจ้าอาวาสในพระอารามชั้นต่างๆ ตั้งแต่ 1,000-4,000 บาท เช่น ตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าอาวาส 1,800 บาท/เดือน หากเทียบแล้วจะได้ใช้ในกิจส่วนตัววันละ 60 บาท
ปัจจุบันพระภิกษุมีกว่า 300,000 รูป มีเพียง 1 เปอร์เซ็น ที่ได้รับเงินบริจาคจำนวนมาก หากมีขอเสนอห้ามพระจับเงิน เพราะผิดพระวินัย เป็นกรณีศึกษา ที่ต้องมีหน่วยงานศึกษาความจำเป็นที่พระต้องใช้เงินในการดำรงชีวิต แม้ผิดพระไตรปิฏก แต่พุทธเจ้าเคยประกาศให้ถือปฏิบัติตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง
ด้านอดีตกรรมการปฏิรูปพระพุทธศาสนามองว่า พระจำเป็นต้องมีเงินเดือนใช้จ่ายได้ตามปกติ หากห้ามพระจับเงินจะสร้างภาระให้หลายด้าน เพราะหากขาดปัจจัยจะขาดความสะดวก
มุมมองของพระและนักวิชาการเห็นตรงกันว่า พระจับเงินจับทองหรือมีเงินเดือน เป็นเพียงเรื่องรอง แต่ต้นตอปัญหาที่เกิดขึ้นกับพระสงฆ์ในปัจจุบัน คือ ระบบเงินบริจาคมหาศาล ที่ไหลสู่ระบบบัญชีส่วนตัว หรือส่วนกลางของวัด โดยไม่มีการตรวจสอบอย่างละเอียด จนนำมาสู่การทุจริต หากใช้กฎหมายแล้วแก้ไม่ได้ คงจำเป็นต้องใช้หลักธรรมวินัยควบคู่ไปด้วย.-สำนักข่าวไทย