กรุงเทพฯ 11 มิ .ย. – กกพ.เตือนทำใจปีหน้าค่าไฟฟ้าขึ้นตามราคาน้ำมันแน่นอน ส่วนปีนี้ยังกินบุญเก่าเงินลงทุนล่าช้า 6 พันล้านบาทช่วยไว้ ล่าสุดผุดโครงการนำร่องลดใช้ไฟฟ้า DR ช่วง Critical Peak คาดดึงเอกชนรายใหญ่เข้าร่วม 100 เมกะวัตต์
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล โฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า แนวโน้มค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (เอฟที) ปีนี้คงจะไม่ขยับขึ้น แม้ว่าราคาน้ำมันช่วงนี้จะขึ้นมาประมาณ 20 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล จากการคำนวณค่าเอฟทีงวดที่แล้วจาก 50 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรลมาอยู่ที่ 60-70 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรลและมีผลทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติต้นทุนหลักของการผลิตไฟฟ้าของประเทศขยับขึ้นตามก็ตาม อย่างไรก็ตาม งวดปีหน้าค่าไฟฟ้าจะต้องขยับขึ้นแน่นอน ก็ขอให้ประชาชนประหยัดพลังงานอย่างต่อเนื่องเพื่อลดผลกระทบ
ส่วนสาเหตุที่คาดว่าค่าไฟฟ้าปีนี้ไม่ขยับขึ้น เพราะยังมีเงินคงค้างของ 3 การไฟฟ้าที่เหลืออยู่ 6,000 ล้านบาท นำมาบริหารจัดการดูแลได้ประมาณ 8-10 สต./หน่วย เพราะค่าไฟฟ้าเอฟทีทุก 1 สต./หน่วย มีผลด้านการเงิน 600-680 ล้านบาท ขณะเดียวกันต้องดูถึงปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่ปีนี้พบการใช้ไฟฟ้าไม่ได้เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เพราะฝนมาเร็วและค่าไฟฟ้ายังต้องดูทิศทางค่าเงินบาทด้วย หากบาทอ่อนค่าลงต้นทุนค่าไฟฟ้าก็เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ค่าไฟฟ้าเอฟทีจะพิจาณาทุก 4 เดือน โดยปีนี้ยังเหลือเวลาอีก 1งวด คือ ก.ย.- ธ.ค.ซึ่งคณะกรรมการ กกพ.จะประชุมผลพิจารณาและแถลง 5 ก.ค.ซึ่งค่าเอฟที งวด พ.ค. – ส.ค. 61 และงวด ม.ค. – เม.ย. 61 อยู่ที่อัตราเท่ากัน คือ -15.90 สต./หน่วย
สำหรับมาตรการลดการใช้ไฟฟ้าล่าสุด กกพ.ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จัดทำ “โครงการนำร่องมาตรการความร่วมมือลดการใช้ไฟฟ้า (Demand Response – DR) ในรูปแบบ Critical Peak Pricing (CPP)” ซึ่งการใช้มาตรการ DR ในครั้งนี้จะเป็นการใช้การลดค่าไฟแทนการจ่ายเงินชดเชย เพื่อจูงใจให้ผู้ใช้พลังงานขนาดใหญ่หลีกเลี่ยงการใช้ไฟฟ้าช่วง 13.30 น. – 15.30 น. ซึ่งเป็นเวลา Critical Peak สำหรับรอบบิล ส.ค. 2561 โดยการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่งจะเปิดรับสมัครผู้สนใจเข้าร่วมโครงการฯ โดยสมัครใจตั้งแต่วันที่ 15-30 มิ.ย. 2561 สมัครทางเว็บไซต์ 3 การไฟฟ้าวางเป้าหมายในการลดการใช้ไฟฟ้าเวลา Critical Peak (เวลา13.30-15.30 น.ของวันจันทร์-ศุกร์ ยกเว้นวันหยุดราชการ) ลงไม่น้อยกว่า 100 เมกะวัตต์ จากผู้ที่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ประมาณ 1,100 เมกะวัตต์ เกือบ 6,100 ราย
สำหรับผู้เข้าร่วมโครงการต้องเป็นผู้ใช้พลังงานประเภทที่ 4 (กิจการขนาดใหญ่) ที่ใช้ไฟฟ้าอัตรา TOU และมีเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าแบบ AMR ซึ่งหากเข้าร่วมจะลดค่าไฟฟ้าในช่วงพีกจากปกติลงไปประมาณ 1 บาท ต่อหน่วย เช่น ประเภทแรงดันขนาดกลางค่าไฟฟ้าทีโอยูจะลดจาก 4.20 บาทต่อหน่วย เหลือ 3.27 บาทต่อหน่วย ส่วนช่วงออฟพีกไม่เปลี่ยนแปลง แต่ในช่วง CPP ค่าทีโอยูจะเพิ่มจาก 4.20 บาท/หน่วย เป็น 9.34 บาทต่อหน่วย (ตามภาพตาราง) อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเป็นช่วงสมัครใจ หากเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมใช้ไฟฟ้าได้ค่าไฟฟ้าก็จะลดลง แต่หากยังเปลี่ยนไม่ได้ค่าไฟฟ้าจะเท่าเดิม
“เรื่อง DR เป็นการจูงใจให้คนเริ่มเข้าโครงการในเบื้องต้น ก่อนที่จะประกาศเป็นหนึ่งในมาตรหารหลักลดพีกปี 2567-2568 ซึ่งช่วงนั้นจะเปิดรับสมัครและมีบทลงโทษหากทำตามข้อกำหนดไม่ได้ โดยตั้งเป้าหมายจะลดการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ที่เกิดขึ้นจากการรองรับพีกในอนาคต 500 เมกะวัตต์ ช่วยลดต้นทุนและลดความเสี่ยงพลังงานในอนาคต” นายวีระพล กล่าว.- สำนักข่าวไทย