กรุงเทพฯ 7 มิ.ย. – เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) เตรียมยื่นหนังสือ ก.พลังงาน 13 มิ.ย.ปรับโครงสร้างราคาหน้าโรงกลั่นฯ,น้ำมัน,ก๊าซครัวเรือน,เอทานอล เลิกอิงค่าขนส่งจากต่างประเทศ ด้าน โรงกลั่นฯแจงราคาส่งออกต่ำกว่าราคาในประเทศเพราะเป็นน้ำมันเกรดต่ำกว่าการขายในประเทศ
คปพ.นำโดย นางสาวรสนา โตสิตระกูลและเครือข่ายได้จัดอภิปรายเรื่องโครงสร้างราคาพลังงาน พร้อมชี้ว่ารัฐบาลควรปรับปรุงหลายประเด็น เพื่อทำให้ราคาในประเทศต่ำลง โดยจะมายื่นหนังสือถึงกระทรวงพลังงานวันที่ 13 มิ.ย. นี้มีหลากหลายข้อเสนอ เช่น ให้โรงกลั่นน้ำมันกำหนดราคาขายในประเทศเช่นเดียวกับการส่งออกไปสิงคโปร์ โดยไม่ต้องมีการเปรียบเทียบต้นทุนการนำเข้าจากสิงคโปร์เพราะราคาส่งออกจำหน่ายในราคาต่ำกว่าการขายในประเทศ,ให้ยกเลิกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และใช้ภาษีสรรพสามิตเข้ามาเป็นกลไกดูแลราคาน้ำมันแทน โดยช่วงราคาน้ำมันสูงก็ควรลดภาษีลงมา,ให้งดการจัดเก็บกองทุนส่งเสริมเพื่อการอนุรักษ์พลังงานที่จัดเก็บ 10 สต./หน่วย เพราะขณะนี้เงินกองทุนมีสูงถึง 41,000 ล้านบาท และมีการใช้อุดหนุนข้ามประเภทที่นำเงินจากผู้ใช้น้ำมันไปอุดหนุนด้านไฟฟ้า ,ส่วนราคาก๊าซหุงต้มเฉพาะภาคครัวเรือนควรกลับไปใช้สูตรในอดีตที่อ้างอิงราคาตะวันออกกลางไม่เกิน 333 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน เพื่อทำให้ราคาภาคครัวเรือนไม่เกิน 10 บาท/กก.
ส่วนราคาเอทานอล ก็ควรปรับสูตรให้ราคาแพงกว่าราคาอ้างอิงตลาดโลกไม่เกินร้อยละ 10 จะช่วยทำให้ราคาลดลงได้อย่างน้อย 3-4 บาท/ลิตร จากที่ปัจจุบันราคาไทยสูงกว่า บราซิลประมาณ 9 บาท/ลิตร ก็ควรจะสูงกว่าไม่กิน 6-7 บาทต่อลิตร นอกจากนี้ ในส่วนของภาษีมูลค่าเพิ่มในสูตรน้ำมันก็ควรจะคิดเฉพาะเนื้อน้ำมันเท่านั้นไม่ควรคำนวณราคาสุดท้ายที่รวมภาษีอื่นๆและเงินกองทุนฯต่างๆเข้าไปด้วย
นายสมภพ พัฒนอริยางกูล โฆษกกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ข้อเรียกร้องในหนังสือที่ส่งมากนั้น หากเกี่ยวข้องกับหน่วยงานใด ทางกระทรวงพลังงานจะมอบหมายให้หน่วยงานนั้นพิจารณา หรือ ชี้แจงตามความเหมาะสมต่อไป อย่างไรก็ตามในส่วนการข้อสงสัยเกี่ยวกับทำไมประเทศไทยต้องอิงราคาน้ำมันจากตลาดสิงคโปร์นั้น ทางสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) ได้จัดทำข้อเท็จจริงเผยแพร่อยู่ในเว็บไซต์ สนพ. แล้ว ประชาชนสามารถเข้าไปดูข้อเท็จจริงได้
นายอธิคม เติบศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไทยออยล์ กล่าวว่า โรงกลั่นไทยออยล์ส่งออกร้อยละ 13 และขายในประเทศร้อยละ 87 การที่ราคาส่งออกต่ำกว่าในประเทศ ก็เนื่องจากว่าเป็นน้ำมันคุณภาพต่ำกว่าข้อกำหนดคุณภาพมาตรฐานของภาครัฐ เช่น ดีเซล ในเมืองไทยกำหนดต้องขายมาตรฐาน ยูโร 4 แต่ส่วนที่ส่งออก เป็นน้ำมันคุณภาพที่ต่ำกว่ายูโร 4 ซึ่งขายไม่ได้ในไทย เผาทิ้งก็ไม่เกิดประโยชน์ และผู้ซื้อ เช่นสิงคโปร์ก็ต้องซื้อไปเพื่อผสมกับน้ำมันอื่นๆเพื่อจำหน่ายต่อ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องปกติทางการค้าที่ของราคาคุณภาพต่ำกว่าก็ต้องขายในราคาถูกกว่า
ในขณะเดียวกัน ค่าขนส่งในโรงกลั่นฯไม่ใช่ค่าขนส่งเทียม เพราะ โรงกลั่นมีต้นทุนขนส่งนำเข้าน้ำมันดิบเข้ามากลั่น มีค่าประกันและสูญเสียอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ทางภาครัฐได้กำหนดสูตรราคาอ้างอิงการนำเข้าจากสิงคโปร์ก็เพื่อติดตามการดำเนินการให้เหมาะสม ส่วนราคาขายของโรงกลั่นก็ขึ้นกับช่วงเวลานั้นว่าความต้องการของตลาดเป็นอย่างไร สะท้อนกลไกลตลาดเป็นหลัก
“โรงกลั่นไทยออยล์ผลิตมากว่า 50ปี ธุรกิจการกลั่นต้องเดินเครื่องให้สูงสุด เพื่อให้คุ้มค่าเชิงเศรษฐกิจและให้ต้นทุนราคาต่ำ โดยโรงกลั่นเก่าจำเป็นต้องมีกำไรเพื่อมาปรับปรุงคุณภาพการผลิตให้เดินเครื่องอย่างมั่นคงและได้คุณภาพตามที่รัฐกำหนดและให้แข่งขันกับการนำเข้าให้ได้ ต้องเพิ่มประสิทิภาพตลอดเวลา ไม่ใช่มีค่าเสื่อมแล้วต้องปล่อยให้โรงงานเสื่อมไปตามเวลา ซึ่ง ธุรกิจค้าน้ำมันทั้งปั๊มน้ำมันและโรงกลั่น เสรีมาตั้งแต่ปี 2534 โดยผู้ค้าก็สามารถนำเข้ามาได้ หากเห็นว่าต้นทุนต่ำกว่าโรงกลั่นในประเทศ แต่ที่ผ่านมาส่วนใหญ่ก็ซื้อจากโรงกลั่นในประเทศเพราะต้นทุนแข่งขันได้”นายอธิคมกล่าว
นายอธิคม กล่าวด้วยว่า โรงกลั่นของสิงคโปร์นั้นตั้งขึ้นมาเพื่อส่งออกเป็นหลัก แต่ของไทยตั้งขึ้นมาเพื่อใช้ในประเทศเพื่อทดแทนการนำเข้า โดยโรงกลั่นสิงคโปร์มี 3 แห่ง รวม กำลังกลั่น 1.4 ล้านบาร์/วัน หรือ 4 แสนบาร์เรล/วัน/โรง แต่ ของไทยมี 6 โรงกลั่น กำลังผลิตรวมเพียง 1.1-1.2 ล้านบาร์เรล/วัน กำลังกลั่น 1-2 แสนบาร์เรล/วัน/โรง ในขณะที่สิงคโปร์ไม่มีการสำรองน้ำมันทางกฏหมาย แต่ของไทยสำรองสูงถึงร้อยละ 6 อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องที่ดีที่รัฐบาลจะลดสำรองลงบ้าง ก็จะทำให้ต้นทุนในส่วนนี้ลดลง -สำนักข่าวไทย