กรุงเทพฯ 4 มิ.ย. – กฟภ.-กฟผ.ยังงง แนวทางบริหารจัดการระบบไฟฟ้าในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ท่ามกลางพนักงาน กฟภ.แต่งดำคัดค้าน เพราะคาดว่าเป็นการแปรรูป
นายสมภพ เต็งทับทิม รองผู้ว่าและโฆษกการไฟ้ฟาส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กล่าวว่า ตามที่มีการนำเสนอข่าวการเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจพนักงาน กฟภ. (สร.กฟภ.) คัดค้านการจัดตั้งบริษัท RPS (Regional Power System) ตามแนวทางการบริหารจัดการระบบไฟฟ้าในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และสหภาพแรงงานฯ กฟภ.ได้มีหนังสือถึงนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน เรื่อง ขอความอนุเคราะห์ให้ชะลอการจัดทำแผน PDP นั้น ทาง กฟภ.ขอชี้แจงว่า กฟภ.ได้รับหนังสือจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ขอหารือเรื่องการบริหารจัดการกิจการด้านพลังงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในเบื้องต้น กฟภ.ยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ เพียงอยู่ในขั้นตอนการศึกษารายละเอียดและหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง กฟภ.มีนโยบายสนับสนุนการนำพลังงานทดแทนมาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า เพื่อเสริมประสิทธิภาพความมั่นคงในระบบไฟฟ้า
สำหรับการเคลื่อนไหวทำกิจกรรมของ สร.กฟภ.นั้น ทางผู้บริหาร กฟภ.ได้ประสานงานกับ สร.กฟภ.ให้ดำเนินการในกรอบของกฎหมายและไม่ให้มีผลกระทบต่อการให้บริการประชาชนและการปฏิบัติงาน ทั้งนี้ กฟภ.จะชี้แจงทำความเข้าใจให้พนักงานรับทราบเป็นลำดับต่อไป
นายศิริชัย ไม้งาม ประธานสหภาพแรงงาน กฟผ. กล่าวว่า เท่าที่รับทราบจากผู้บริหาร กฟผ. รับทราบว่า นโยบายดังกล่าวเป็นนโยบายของรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีสนับสนุนให้จัดตั้ง บริษัท RPS ขึ้นมา เพื่อบริหารจัดการไฟฟ้าและสร้างรายได้แก่ชุมชนในภาคใต้ โดยในส่วนของสายส่งไฟฟ้าของ กฟภ.และ กฟผ. รวมทั้งโรงไฟฟ้าบางลาง ของ กฟผ.ก็ยังเป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดเดิมต่อไป อย่างไรก็ตาม บริษัท RPS ที่ตั้งขึ้นจะเป็นผู้มีอำนาจในการรับซื้อขายไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศ โดยในส่วนของโรงไฟฟ้าบางลางก็ต้องจำหน่ายผ่านบริษัทที่ตั้งขึ้นมาใหม่เช่นกัน
ทั้งนี้ บริษัท RPS จะบริหารจัดการการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อสร้างความมั่นคงและสร้างรายได้แก่ท้องถิ่น โดยในพื้นที่มีความต้องการประมาณ 270 เมกะวัตต์ เบื้องต้นบริษัทจะเป็นการร่วมทุนระหว่าง กฟภ.และ กฟผ.ในสัดส่วนร้อยละ 24.5 ส่วนอีกร้อยละ 51 เงินเบื้องต้นจะมาจากเงินกองทุนส่งเสริมเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน โดยในอนาคตเมื่อวิสาหกิจในพื้นที่ใดมีความเข้มแข็งก็จะเข้ามาถือหุ้นในสัดส่วนของกองทุนอนุรักษ์ฯ และโครงการที่จะลงทุนใหม่ ได้แก่ โรงไฟฟ้าชีวมวล 50-60 เมกะวัตต์ ซึ่งจะมีการใช้เงินภาครัฐ ซึ่งอาจจะใช้กองทุนอนุรักษ์ร่วมลงทุน 1,500 เมกะวัตต์
“หากดูแล้วก็ไม่ใช่การแปรรูป แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งภาครัฐควรจะออกมาชี้แจงให้ชัดเจน แก้ไขปัญหาความสับสนที่เกิดขึ้น ” นายศิริชัย กล่าว. – สำนักข่าวไทย