สำนักงาน กกต. 8 ธ.ค.-กกต.จัดเสวนามองเลือกตั้งอเมริกา มุมสะท้อนเลือกตั้งไทย พีเน็ต ชี้ข้อดีเลือกตั้งอเมริกาผู้สมัครไม่ต้องเป็นสมาชิกพรรคตัดระบบนายทุน แต่การไม่มีหน่วยงานกลางจัดเลือกตั้งทำให้เกิดการเอื้อประโยชน์
สถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดเสวนา เรื่อง “มองเลือกตั้งอเมริกา มุมสะท้อนเลือกตั้งไทย” โดย นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. นายวิบูลย์พงศ์ พูนประสิทธิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายพลีธรรม ตริยะเกษม กรรมการและเลขานุการมูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (พีเน็ต) ร่วมเสวนา
นายพลีธรรม กล่าวว่า รูปแบบการเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกามีความแตกต่างจากประเทศไทยหลายอย่าง เช่น ช่วงเวลาการเปิด-ปิดหีบบัตรลงคะแนนที่ไม่เหมือนกันในบางรัฐ และไม่มีหน่วยงานกลางที่จัดการเลือกตั้งเหมือนกกต.ประเทศไทย ซึ่งแต่ละรัฐจะเป็นผู้จัดการเลือกตั้งเอง มีเพียงหน่วยงานที่ดูแลเรื่องงบประมาณการเลือกตั้ง และหน่วยงานที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกตั้งเท่านั้น
“แต่ละรัฐจะมีปลัดของรัฐเป็นผู้ดูแล ซึ่งปลัดมาจากการเลือกตั้งและเป็นตัวแทนของพรรคการเมือง ทำให้บางรัฐเกิดความโอนเอียงเข้าข้างผู้สมัครพรรคของตนเอง และบางรัฐแก้กฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ผู้สมัคร ทั้งนี้การที่สหรัฐอเมริกาไม่มีหน่วยงานกลางที่ดูแลการเลือกตั้งโดยตรงทำให้เกิดช่องโหว่เรื่องฐานข้อมูลผู้มีสิทธิเลือกตั้ง แต่มีข้อดีที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกพรรคมาก่อนก็สามารถลงสมัครในนามพรรคได้หากได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกพรรค ซึ่งระบบนี้จะสามารถตัดวงจรการครอบงำจากนายทุนได้” นายพลีธรรม กล่าว
นายพลีธรรม กล่าวว่า ส่วนบัตรเลือกตั้งของอเมริกาจะไม่มีรูปแบบตายตัว เพราะแต่ละมลรัฐเป็นผู้ออกแบบเอง ซึ่งการเลือกตั้งของแต่ละรัฐจะรวมคำถามหรือการตัดสินใจที่ต้องการมติของประชาชนรวมไว้ในบัตรเดียวกัน นอกจากนี้สหรัฐอเมริกายังเปิดกว้างให้ประชาชน รวมถึงสื่อมวลชนสนับสนุนผู้สมัครได้อย่างเปิดเผย
“การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐครั้งนี้ ชาวอเมริกามองว่าเป็นการเลือกตั้งที่ไม่ปกติ มีอารมณ์ความอึดอัดเพราะผู้สมัครทั้ง 2 คนไม่เป็นที่ชื่นชอบของประชาชนมากนัก เป็นการเลือกตั้งที่มีความต่างมาก โดยเป็นการแข่งขันกันระว่างผู้ที่มีประสบการณ์ทางการเมืองสูงกับผู้ไม่มีประสบการณ์ เป็นการต่อสู้ระหว่างชาย -หญิง มีการโจมตีเรื่องส่วนตัวมากกว่านโยบายทางการเมือง” นายพลีธรรม กล่าว
ด้านนายสมชัย กล่าวว่า จากการเดินทางไปสังเกตการณ์เลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ เกิดคำถามเรื่องวันลงคะแนนเสียงว่าทำไมต้องเป็นวันอังคาร ซึ่งได้รับคำตอบจากผู้ที่เกี่ยวข้องว่าปฏิบัติกันมานานแล้ว ซึ่งประชาชนระบุว่าไม่ใช่วันที่สะดวกในการเดินทางมาเลือกตั้ง แต่ก็ยังไม่เปลี่ยนวัน ทำให้เห็นว่าอเมริกายังยึดธรรมเนียมเดิมอยู่ จึงทำให้ตัวเลขผู้มาใช้สิทธิลงคะแนนล่วงหน้าสูงถึงร้อยละ 35 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด
“ส่วนการรวมการเลือกตั้งอื่นๆที่ต้องการผลการตัดสินใจของประชาชนมาไว้ในวันเดียวกันนั้น มองว่ามีข้อดี เพราะจะได้ทราบการตัดสินใจของประชาชนในคราวเดียวเพื่อเดินหน้าตามมตินั้น และข้อดีอีกเรื่องที่การเมืองอเมริกายึดถือ คือการที่ผู้สมัครเคารพผลการเลือกตั้งที่ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน” นายสมชัย กล่าว.-สำนักข่าวไทย