กทม.2 มิ.ย.-โพลพบผู้ต้องขังร้อยละ53ที่เคยติดคุกระบุจะไม่กลับไปติดอีกเพราะลำบาก รักครอบครัว ไม่ต้องการยุ่งกับยาเสพติด แต่อีกร้อยละ46 มีโอกาสกลับไป เพราะเจอคนกลุ่มเดิมๆ ที่เสพ ขาย สังคมไม่ให้โอกาส ไม่มีงานทำ ไม่มีเงิน และสำคัญคือมีคนในครอบครัว ชุมชน เป็นทั้งคนเสพ ครอบครอง ขาย
นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) มูลนิธิ สถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ เปิดผลโพล ผู้ต้องขังคดียาเสพติด คิดอย่างไรต่อการติดคุกซ้ำ โดยสำรวจจากผู้ต้องขังคดียาเสพติดจำนวน 379 ราย ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 1 พ.ค.–1 มิ.ย.2561ที่ผ่านมา พบว่ากลุ่มตัวอย่างถึงร้อยละ39.4ไม่ได้เรียนหนังสือหรือได้เรียนก็ไม่เกินประถมศึกษา ขณะที่ร้อยละ32.7จบมัธยมศึกษาตอนต้น ,ร้อยละ 26.6 จบมัธยมศึกษาตอนปลายถึงอนุปริญญา มีเพียงร้อยละ1.3 ที่จบปริญญาตรีหรือสูงกว่าในการสำรวจครั้งนี้
ที่น่าเป็นห่วงคือส่วนใหญ่ร้อยละ81.9 เป็นคนวัยทำงานสร้างฐานะคืออายุระหว่าง 25–55 ปี แต่กลับมาอยู่ในคุก เพราะคดียาเสพติด ขณะที่ร้อยละ 16.0 เป็น เยาวชน อายุระหว่าง 18–24 ปี และร้อยละ 2.1 เป็นคนสูงวัย อายุ 55 ปีขึ้นไป
ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง คือส่วนใหญ่ร้อยละ 42.3 เคยติดคุกมาแล้วมีประวัติติดคุกซ้ำ ขณะที่ร้อยละ 57.7 ติดเป็นครั้งแรก และเมื่อถามว่า ถ้าออกจากคุกไปจะมีโอกาสกลับมาติดคุกซ้ำอีกหรือไม่ พบว่าจำนวนมากหรือร้อยละ 46.1 ของคนที่เคยติดคุกซ้ำมาก่อน ระบุมีโอกาสจะกลับมาติดอีก เพราะเจอแต่กลุ่มคนเดิมๆ ที่เสพที่ขาย สังคมไม่ให้โอกาสกลับตัว ทำผิดแล้วผิดเลยไม่ให้โอกาสแก้ไข ไม่มีงานทำไม่มีเงิน งานอย่างอื่นได้เงินน้อยไม่พอใช้และเพราะความจำเป็น ขณะที่ร้อยละ53.9 ของคนเคยติดคุกซ้ำ ระบุไม่กลับมาแล้ว เพราะติดคุกลำบาก รักครอบครัว มีงานที่สุจริตรออยู่ ได้กำลังใจจากคนรอบข้าง ไม่ต้องการยุ่งเกี่ยวยาเสพติดอีก
อย่างไรก็ตาม แม้แต่กลุ่มคนที่เพิ่งติดครั้งแรกจำนวนมากหรือร้อยละ 31.9 ระบุมีโอกาสจะติดซ้ำเช่นกัน นอกจากนี้กลุ่มเยาวชนคือกลุ่มที่ระบุมีโอกาสจะกลับมาติดคุกซ้ำมากที่สุด คือร้อยละ 45.2 ในขณะที่คนวัยทำงานสร้างฐานะร้อยละ 34.3 และคนสูงวัยร้อยละ 25.0 ตามลำดับ
ที่น่าพิจารณาคือ เครือข่ายบุคคลรอบข้างใกล้ตัวเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ก่อนมาติดคุก โดยพบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 78.9 ระบุมี คนรู้จักทั่วไป เป็นทั้งคนเสพ คนครอบครอง และคนขาย นอกจากนี้ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 61.9 ระบุ คนพักอาศัยใกล้บ้านในชุมชนเป็นทั้งคน เสพ คนครอบครอง และคนขาย ยิ่งไปกว่านั้น ร้อยละ 14.3 ระบุมีคนในครอบครัว เป็นทั้งคนเสพ คนครอบครอง และ คนขาย ตามลำดับ.-สำนักข่าวไทย