กรมอุตุนิยมวิทยา 28 พ.ค.- กรมอุตุฯประกาศ ไทยเข้าสู่ฤดูฝนเเล้วเเละจะสิ้นสุดกลางเดือนต.ค. คาดมีฝนทิ้งช่วงกลางเดือนมิ.ย.-ก.ค. ย้ำระวังเรื่องฟ้าผ่า จะเกิดมากกว่าปีที่ผ่านมา
นายวันชัย ศักดิ์อุดมไชย อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เป็นประธานเเถลงข่าวเรื่องการประกาศเข้าสู่ฤดูฝนของประเทศไทยพ.ศ.2561 โดยกล่าวว่า ฤดูฝนของประเทศไทยในปีนี้เริ่มต้นขึ้นเเล้วตั้งเเต่วันที่ 26 พฤษภาคมที่ผ่านมา เนื่องจากมีฝนตกชุกต่อเนื่อง ประกอบกับลมระดับล่างที่พัดปกคลุมประเทศไทยได้เปลี่ยนเป็นลมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งพัดพาความชื้นจากจากทะเลอันดามันเข้าปกคลุมประเทศไทย ส่วนลมระดับบนได้เปลี่ยนเป็นลมฝ่ายตะวันออกพัดเข้าปกคลุม จึงถือได้ว่าประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนเเล้ว เเละจะสิ้นสุดประมาณกลางเดือนตุลาคมสำหรับกลุ่มจังหวัดที่อยู่ในไทยตอนบน ส่วนภาคใต้โดยเฉพาะฝั่งตะวันออก จะยังมีฝนตกต่อไปจนถึงเดือนธันวาคม
อย่างไรก็ตามในช่วงกลางเดือนมิถุนายนจนถึงกลางเดือนกรกฎาคม ปริมาณเเละการกระจายตัวของฝนมีน้อยเเละไม่สม่ำเสมอ จะส่งผลทำให้ปริมาณน้ำไม่เพียงพอสำหรับภาคการเกษตรในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะนอกเขตชลประทานในภาคเหนือตอนล่างเเละภาคตะวันออกเฉียงเหนืออาจจะเผชิญความเเห้งเเล้งได้ เเนะประชาชนใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด เเต่คาดว่าสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงไม่รุนเเรงนัก เพราะปีนี้ไม่ใช่ปีแล้ง ปริมาณน้ำในเขื่อนยังมีกว่าร้อยละ 70 ส่วนเขื่อนที่น่าห่วง คือบริเวณเขาใหญ่ เช่นเขื่อนลำตะคอง ที่ฝนจะตกนอกพื้นที่เขื่อน
อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวต่อว่า ในปีนี้ค่าเฉลี่ยปริมาณฝนจะน้อยกว่าปีที่ผ่านมา เเต่ก็ใกล้เคียงกับค่าปกติ เเละยืนยันว่าฝนน้อยกว่าปี 2554 ที่ไทยเจอปัญหาอุทกภัยอย่างหนัก เนื่องจากไม่ได้อยู่ในช่วงปรากฎการณ์ลานินญา
โดยการเข้าสู่ฤดูฝนของไทยในปีนี้ถือว่าช้ากว่าหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งจะเข้าสู่ฤดูในช่วงกลางเดือนพ.ค.เนื่องจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ซึ่งเป็นลมประจำฤดูพัดมาล่าช้า ขณะที่ในช่วงต้นฤดูฝนจะมีปริมาณฝนมากกว่าช่วงอื่นๆ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดน้ำท่วมได้ โดยเฉพาะในภาคเหนือเเต่จะเป็นในลักษณะของน้ำป่าที่จะมาไวไปไว เเละคาดว่าในช่วงฤดูฝนนี้จะมีพายุจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ 1-2 ลูก หากเกิดในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะได้รับผลกระทบ เเต่หากเกิดในช่วงต.ค.-ธ.ค. ภาคใต้ฝั่งตะวันออกจะได้รับผลกระทบ มีลมเเรงเเละฝนตกหนัก ที่สำคัญในฤดูฝนปีนี้ ให้ระวังเรื่องฟ้าผ่าที่จะเกิดขึ้นมากกว่าปีที่ผ่านมาด้วย.-สำนักข่าวไทย