20 พ.ค. – นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ตามที่มีการนำเสนอข่าวว่ามีการจับปลาฉลามวาฬขึ้นเรือประมงจังหวัดภูเก็ต ซึ่งจากการเดินทางลงพื้นที่ตรวจสอบ ที่ท่าเทียบเรือประมงแพแสงอรุณภูเก็ตด้วยตนเอง พบว่าเรือประมงดังกล่าวทำการประมงประเภทอวนลาก ชื่อเรือแสงสมุทร 3 ทะเบียนเรือ 228304242 เลขที่ใบอนุญาตทำการประมง 618301010283 เจ้าของเรือ คือนายวัชรพล วรรณะ มีนายสมสมัย มีจอม เป็นผู้ควบคุมเรือ ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่สหวิชาชีพได้ตรวจเรือที่แจ้งเข้าท่าเวลา 22.00 น ของวันที่ 18 พ.ค. พบหลักฐานจากการชี้แจงของผู้ควบคุมเรือยอมรับว่าได้ร่วมกับเรือประมง แสงสมุทร 2 ที่มีนายรัตนา พรหมงาม เป็นผู้ควบคุมเรือ ทำการประมงลากคู่จับสัตว์น้ำในทะเลอันดามัน
เจ้าหน้าที่ชุดดังกล่าว จึงได้รวบรวมหลักฐานแจ้งลงบันทึกประจำวัน และร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสืบสวน สภ.เมืองภูเก็ต เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 66 พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 ประกอบประกาศกระทรวงเกษตรฯ เรื่องกำหนดชนิดสัตว์น้ำที่เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์น้ำที่หายากหรือใกล้สูญพันธุ์ ที่ห้ามจับหรือนำขึ้นเรือประมง พ.ศ.2559 ข้อ 2 (4) ปลาฉลามวาฬ เพื่อดำเนินคดีกับนายสมสมัย มีจอม และนายรัตนา พรหมงาม และผู้กระทำผิด จนกว่าคดีจะถึงที่สุด
สำหรับบทลงโทษผู้กระทำผิดตาม พ.ร.ก.ประมง 2558 ตามมาตรา 66 คือ ปรับสามแสนถึงสามล้านบาท หรือปรับมูลค่า 5 เท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่จับหรือนำขึ้นเรือประมงแล้วแต่ว่าจำนวนใดจะสูงกว่ากัน ขณะเดียวกันเรือดังกล่าวต้องถูกพิจารณาถอนใบอนุญาตการทำประมงตามมาตรา 39 และไม่สามารถขอใบอนุญาตการทำประมงได้อีก ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งรวบรวมข้อมูล หลักฐานเพื่อดำเนินการเอาผิดกับผู้เกี่ยวข้องตามกฎหมายโดยเร็วต่อไป
เจ้าหน้าที่ทัพเรือภาคที่ 3 พร้อมเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายลงพื้นที่ตรวจเรือและสอบสวนเข้มลุกเรือประมง ไต๋กงเรือประมง และเจ้าของเรือประมง แสงสมุทร 2-3 อย่างละเอียดเพื่อสรุปผลถึงกรณีที่เรือประมงทั้ง 2 ลำ ลากอวนที่บริเวณใกล้เขตราชาใหญ่ ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต ทางด้านทิศเหนือ และได้ลากฉลามวาฬคาดท้องแก่ขึ้นไปบนเรือประมงแสงสุมทร 3 แล้วใช้เชือกผูกยกหางขึ้นไม่ยอมปล่อยลงทะเลจนเรือดำน้ำและนักท่องเที่ยวที่ไปดำน้ำเห็น และวิ่งเข้าไปประกบและบอกให้ไต๋กงเรือแสงสมุทรปล่อยฉลามวาฬดังกล่าวลงทะเลทันทีแต่ปรากฎว่าทางไต๋กงเรือไม่ยอมปล่อย กลับแล่นเรือหนีทางเรือดำน้ำจึงแล่นตามประกบจนทันและกดดันอยู่ประมาณ 2 ชั่วโมง ไต๋กงเรือจึงยอมปล่อยฉลามวาฬดังกล่าวลงทะเล แต่ทางผู้ที่ไปกับเรือดำน้ำได้สังเกตเห็นว่าก่อนที่ฉลามวาฬจะถูกผลักลงทะเลปรากฎว่าลูกฉลามวาฬได้หลุดออกจากท้องแม่ ตกลงจมหายลงไปในทะเลทันที
ทุกฝ่ายลงความเห็นว่าทางไต๋ก๋งเรือและลูกเรือประมงทั้ง 2 ลำ นั้นปิดบังซ่อนเร้นสัตว์ทะเลหายาก หวังผลประโยชน์ จึงมีมัติให้ทางเจ้าหน้าที่ประมง จ.ภูเก็ต และเจ้าหน้าที่กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เข้าแจ้งความร้องวทุกข์กล่าวโทษไต๋ก๋งเรือและลูกเรือประมงในข้อหาผิดตาม พ.ร.ก.ประมง 2558 ตามมาตรา 66 คือ ปรับสามแสนถึงสามล้านบาท หรือปรับมูลค่า 5 เท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่จับ หรือนำขึ้นเรือประมงแล้วแต่ว่าจำนวนใดจะสูงกว่ากัน ขณะเดียวกัน เรือดังกล่าวต้องถูกพิจารณาถอนใบอนุญาตการทำประมงตามมาตรา 39 และไม่สามารถขอใบอนุญาตการทำประมงได้อีก ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งรวบรวมข้อมูล หลักฐานเพื่อดำเนินการเอาผิดกับผู้เกี่ยวข้องตามกฎหมายโดยเร็วต่อไป และผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต สั่งให้ประมงจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หาซากฉลามวาฬ เพราะหากตายจริงต้องลอยขึ้นมาในเร็วนี้ เพื่อมัดตัวผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด.- สำนักข่าวไทย