รร.สยามเคมปินสกี้ 17 พ.ค. – “สมคิด” ชวนเกาหลีลงทุนไทย เพื่อเป็นฐานธุรกิจรุกสู่ตลาด CLMVT โดยขอให้เชื่อมั่นไทยจะไม่ลำเอียงดูแลนักลงทุน พร้อมเตรียมหารือทูตเกาหลีใต้จัดประชุม KOTCOM ครั้งที่ 2 ภายในปีนี้
ในงานสัมมนา “Korea-Thailand 60th Anniversary of Diplomatic Relations: Maekyung Thailand Forum” ซึ่งจัดโดยเมคยอง มีเดีย กรุ๊ป (Maekyung Media Group) สื่อด้านธุรกิจของเกาหลีใต้ เนื่องในโอกาสที่ นายเพค อุน-กยู รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้า อุตสาหกรรม และพลังงาน (MOTIE) สาธารณรัฐเกาหลี นำคณะหน่วยงานภาครัฐ นักธุรกิจ และนักลงทุนชั้นนำในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมรายใหญ่ จากสาธารณรัฐเกาหลีกว่า 150 คน จาก 70 บริษัท เดินทางมาศึกษาลู่ทางการลงทุนในประเทศไทย เพื่อฉลองในโอกาสครบรอบ 60 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับเกาหลีใต้
นายเพค อุน-กยู กล่าวว่า ปัจจุบันมีนักธุรกิจของเกาหลีเข้ามาลงทุนในไทยไม่น้อยกว่า 400 บริษัท ทำให้เกิดการจ้างงานไม่น้อยกว่า 30,000 ตำแหน่ง ช่วยกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมาก ด้วยจุดแข็งที่เกาหลีมองไทยเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน และยังเป็นศูนย์กลางผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าอันดับ 4 ของโลก สะท้อนการส่งเสริมอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับนโยบายปฏิรูปอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ของเกาหลีที่มีการส่งเสริมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ ยานยนต์ไฟฟ้า หุ่นยนต์ และพลังงานทดแทน เป็นต้น ทั้งนี้ อยากให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลและความเห็นระหว่างกัน เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างเท่าทัน จะเห็นแก่ตัวไม่ได้ เพราะจะทำให้เกิดความขัดแย้งทางการค้า ดั่งสุภาษิตโบราณที่ว่า ทำนาต้องเอากล้า ทำปลาต้องเอาเกลือ เพราะไทยและเกาหลีเป็นประเทศที่เน้นพึ่งพาการพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตร ซึ่งหวังว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้ง 2 ประเทศจะใช้โอกาสนี้ร่วมมือกันขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน
นายอุน-กยู กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันเมื่อเทียบขนาดเศรษฐกิจของทั้งไทยและเกาหลีใต้สัดส่วนการลงทุนระหว่างกันนับว่ายังน้อย ดังนั้น ทางเกาหลีต้องการจะส่งเสริมสนับสนุนให้มีการลงทุนระหว่างกันมากขึ้น รวมถึงความร่วมมือทางการด้านการเมือง เพื่ออนาคตที่สดใสและเร็ว ๆ นี้จะเชิญนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เดินทางไปสานความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจการลงทุนระหว่าง 2 ประเทศต่อไป
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “ครบรอบ 60 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย – เกาหลีใต้ กับโอกาสของเกาหลีใต้ในการลงทุนในไทย” โดยระบุว่า รอนักธุรกิจเกาหลีใต้ 2 ปี นับจากที่ได้ไปเยือนประเทศเกาหลีใต้ในช่วง 2 ปีก่อน จึงมีความยินดีสูงสุดและจะนำสู่การเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่แน่นเฟ้นของทั้ง 2 ประเทศในอนาคต และการเข้ามาครั้งนี้ของนักลงทุนเกาหลีใต้เป็นจังหวะที่เหมาะสมในสถานการณ์บ้านเมืองของไทยที่สงบ การเมืองมีเสถียรภาพ และไทยกำลังจะมีการเลือกตั้งในช่วงต้นปีหน้า ขณะที่เศรษฐกิจประเทศมีแนวโน้มแจ่มใส เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวและเติบโตอย่างมีเสถียรภาพจากร้อยละ 1 ในปี 2557 เป็นร้อยละ 3.0 ในปี 2558 และร้อยละ 3.3 ในปี 2559 เพิ่มเป็นร้อยละ 3.9 ในปี 2560 และคาดว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยจะโตทะลุร้อยละ 4 แน่นอน จากการฟื้นต้วของการบริโภค ภาคอุตสาหกรรม ภาคส่งออก การลงทุนต่างประเทศ โดยเฉพาะการท่องเที่ยว และขอขอบคุณนักท่องเที่ยวเกาหลีใต้ที่เดินทางมาเยือนประเทศไทยปีที่แล้วถึง 1.7 ล้านคน สูงเป็นอันดับ 3 ด้านเงินเฟ้อของไทยยังอยู่ในระดับต่ำ ด้านทุนสำรองเงินตราต่างประเทศอยู่ในระดับสูงกว่า 200,000 ล้านดอลลดาร์สหรัฐ ขณะที่หนี้สาธารณะมีสัดส่วนที่ร้อยละ 45 ของจีดีพีประเทศ ธนาคารโลกเห็นว่าเศรษฐกิจไทยแจ่มใส
ด้านภูมิรัฐศาสตร์ของไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค ซึ่งช่วงนี้เป็นช่วงของเอเชียอย่างแท้จริง เขตความร่วมมือเศรฐษกิจและการค้าที่ใหญ่ที่สุดอย่าง RCEP และ CPTTP ภายใต้การนำของญี่ปุ่น โดยเฉพาะอนุภูมิภาค CLMVT จะเชื่อมเศรษฐกิจไทยและประเทศอื่น ๆ ในวงกว้าง ซึ่งจีน ยุโรป ญี่ปุ่น ต่างสนใจ ขณะที่ไทยอยู่ใจกลางมีความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศเพื่อนบ้านย่อมเป็นศูนย์กลางโดยธรรมชาติ มีผลให้ธุรกิจยักษ์ใหญ่ต่างเลือกไทยเป็นศูนย์กลางในการทำธุรกิจเพื่อรุกสู่ประเทศอื่น ๆ โดยใช้ความเชื่อมโยงทางภูมิศาสตร์ และไทยเตรียมจัดประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS) ครั้งที่ 8 ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพในวันที่ 15-16 มิถุนายนนี้ มีสมาชิกร่วมประชุม 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม ซึ่งเป็นการประชุมผู้นำประเทศที่จะกำหนดยุทธศาสตร์ที่ประเทศอื่น ๆ สามารถเข้ามาร่วมมือได้
นายสมคิด กล่าวว่า การเดินทางมาเยือนครั้งนี้ น่าเป็นโอกาสดีที่เกาหลีจะประเมินศักยภาพไทยและแสวงหาพันธมิตรธุรกิจในไทย ช่วงนี้จึงเป็นจังหวะเวลาเหมาะที่จะเชื่อมโยงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรมได้ รัฐบาลไทยขณะนี้มีความมุ่งมั่นจะปฎิรูปเศรษฐกิจประเทศ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ยกระดับความสามารถประเทศและเปลี่ยนผ่านจากแอนะล็อกไปสู่ดิจิทัล ดังนั้น ในอนาคตข้างหน้าจะมีโครงการลงทุนครั้งใหญ่ในเมกะโปรเจคจะมีการระดมทุน เพื่อยกระดับประสิทธิภาพเศรษฐกิจไทย ขณะเดียวกันรัฐบาลไทยออกนโยบาย Thailand 4.0 เพื่อสร้างอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่มีมูลค่ามากขึ้น ทั้งอุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต และต้องการต่อยอดอุตสาหกรรมรถยนต์ใหญ่ไทยมีขนาดอุตสาหกรรมใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้สู่อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต เดินหน้าสร้างไบโออีโคโนมี และก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมการบิน ซึ่งแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวเข้ามาไทยถึงปีละ 35 ล้านคน จึงมั่นใจอุตสาหกรรมเหล่านี้จะเป็นจุดแข็งของไทย
นายสมคิด กล่าวว่า เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทยและเกาหลีใต้ให้ดียิ่งขึ้นจะหารือกับทูตเกาหลีใต้ เพื่อจัดการประชุมคณะกรรมการความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างสาธารณรัฐเกาหลี-ไทย ครั้งที่ 2 (KOTCOM) ภายในปีนี้ โดยจะเตรียมการอย่างดีเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น แต่นักลงทุนเกาหลีใต้ต้องเชื่อว่าไทยมีศักยภาพ ดังนั้น การเดินทางมาเยือนไทยครั้งนี้ขอให้ศึกษาและเชื่อมั่นไว้วางใจว่า ไทยเป็นเพื่อนจะดูแลนักลงทุนเกาหลีเป็นอย่างดี จะสร้างศักยภาพขยายธุรกิจได้ และที่สำคัญอย่างยิ่ง ขอให้มีความเชื่อมั่นว่าหากทำงานร่วมกันจะสามารถบรรลุสิ่งที่ต้องการได้ตามที่ตนชื่อสมคิด แปลว่า คิดอะไรก็สมปรารถนาอยู่เสมอ
นายสมคิด กล่าวว่า ปัจจุบันเกาหลีเป็นคู่ค้าอันดับที่ 10 ของไทย และไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 15 ของเกาหลีใต้ การลงทุนเกาหลีในไทยอยู่อันดับที่ 12 ขณะที่ไทยต้องการการลงทุนจากเกาหลีทั้งสิ้น เพราะปัจจุบัน ประเทศเกาหลีใต้มีจุดแข็งหลายด้าน ทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์มีฮุนได สื่อสารโทรคมนาคมมีซัมซุง แอลจี และอื่น ๆ อุตสาหกรรมเหล็ก รถไฟฟ้า เครื่องบิน ดิจิทัล เกาหลีใต้ จึงไม่เป็น 2 รองใคร ประเทศไทย จึงมองเกาหลีใต้เป็นตัวอย่างทั้งสิ้น การเริ่มพัฒนาเศรษฐกิจของเกาหลีและไทยเริ่มพร้อมกัน แต่เกาหลีก้าวหน้ามาก ไทยสร้างโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก เพื่อเป็นพอร์ตของ CLMVT เกาหลีจึงเป็นตัวอย่างของไทยในการพัฒนาเศรษฐกิจ ประเทศไทยต้องการสร้างกระแสของการปฏิรูป แต่ต้องการมิตรสหายที่จะเข้ามาร่วม และเกาหลีใต้เป็นเป้าหมายของไทย
นายสมคิด ยังเชิญชวนให้นักลงทุนเกาหลีใต้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งขณะนี้ไทยอยู่ระหว่างเดินหน้าโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่น โครงการรถไฟฟ้าหลายสายในกรุงเทพมหานคร ดังนั้นต้องการให้ทางเกาหลีเข้ามาร่วมมีส่วนด้วย เพราะว่าธุรกิจเกี่ยวกับการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ในไทย จะมีโอกาสมาก หากสามารถเปิดตัวโครงการได้ก็จะได้ประโยชน์จากการเข้ามาลงทุน และประเทศไทย และยังมีโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี ที่รองรับการลงทุนใหม่ ๆ ยืนยันว่า ประเทศไทยไม่ลำเอียงดูแลนักลงทุน ดูแลเฉพาะญี่ปุ่นตามที่นักลงทุนเกาหลีเคยรู้สึก ยืนยันว่าไทยจะดูแลนักลงทุนอย่างเท่าเทียม และย้ำว่าทุกบริษัทเกาหลีใต้มีโอกาสเข้ามาลงทุนในประเทศไทย
ส่วนการที่นักลงทุนเกาหลีต้องการถือหุ้นในบริษัทที่ลงทุนในไทยมากกว่าร้อยละ 49 นั้น รัฐบาลไทยอยู่ระหว่างพิจารณาจะทบทวนกฏหมายการถือหุ้นของต่างชาติในกิจการในประเทศไทยที่ปัจจุบันกำหนดไว้สูงสุดที่ร้อยละ 49 ดังนั้น ขอให้นักลงทุนติดตามข่าว ส่วนการเข้ามาลงทุนในตลาดทุนไทยนั้น ตลาดทุนไทย ปัจจุบันไม่เป็นรองประเทศใดในอาเซียน ดังนั้น จะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มการสื่อสารให้กับนักลงทุนเกาหลีให้มากยิ่งขึ้น ในส่วนของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่นักลงทุนเกาหลีสนใจ ก็ยังมีโอกาสที่อุตสาหกรรมนี้จะเติบโตได้
นายสมคิด กล่าวว่า นักธุรกิจเกาหลีมีความเข้มแข็งและไม่เป็นที่ 2 รองใคร ไทยมีนโยบายความเท่าเทียมในการดูแลนักลงทุน และยังสั่งการให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จัดทำนโยบายที่จะดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนเกาหลีใต้ไปด้วยแล้ว สำหรับซัมซุงปัจจุบันลงทุนหลายด้านในไทย แต่ยังไม่ลงทุนด้านสื่อสารโทรคมนาคม แต่ไปลงทุนในเวียดนาม จึงต้องการเชิญชวนให้มาลงทุนในไทย เพื่อสร้างโอกาสในตลาด CLMVT ที่มีขนาดตลาดถึง 250 ล้านคน
ด้านสายการบินต้นทุนต่ำของเกาหลีใต้ที่สนใจธุรกิจนี้ในไทย ไทยมียอดนักท่องเที่ยวปีละกว่า 35 ล้านคน อุตสาหกรรมนี้จึงเติบโตเร็วมาก จึงเปิดโอกาสที่จะเชื่อมโยงประเทศต่าง ๆ รอบไทย ดังนั้น ในอนาคตไทยจะก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค ด้านการลงทุนของสายการบินต้นทุนต่ำ ล่าสุดบริษัท ไทยแอร์เอเชียมีโครงการลงทุน 150 ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานหรือ MRO และลงทุนสร้าง lowcost terminal เพื่อเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวต่างจังหวัดของไทยด้วย
สำหรับกิจกรรมของคณะเกาหลี เริ่มตั้งแต่เมื่อวานนี้ (16 พ.ค.) ซึ่งทางบีโอไอ กระทรวงอุตสาหกรรมและโคเรียไบโอ หรือองค์กรส่งเสริมเทคโนโลยีชีวภาพของสาธารณรัฐเกาหลี (KoreaBio) จัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างกัน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมไบโอเทคโนโลยี ตลอดจนความร่วมมือในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การสัมมนา การจับคู่ทางธุรกิจ การสำรวจลู่ทางการลงทุนไปแล้ว โดยฝ่ายไทยมีนางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการบีโอไอ และกระทรวงอุตสาหกรรม โดยนายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ฝ่ายเกาหลี ผู้ลงนาม คือ นายจอง ซอน ซอ ประธานโคเรียไบโอ โดยมีนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นสักขีพยาน
ประเทศเกาหลีใต้มีการพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมที่ทันสมัยและได้รับการยอมรับในระดับโลก ทั้งด้านอิเล็กทรอนิกส์ ด้านดิจิทัลรวมถึงด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วย โดยเฉพาะด้านไบโอเทคโนโลยี ดังนั้น ทางบีโอไอ จึงต้องการเชิญชวนให้ธุรกิจชั้นนำของเกาหลีใต้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะ อีอีซี ซึ่งพร้อมรองรับการลงทุนด้านนวัตกรรมและดิจิทัลในพื้นที่ EECi และ EECd รวมทั้งการลงทุนพัฒนาสมาร์ทซิตี้ในประเทศไทย
สำหรับมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่ออกมาล่าสุด เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2561 คณะกรรมการบีโอไอ ออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่จะช่วยดึงดูดการลงทุนจากเกาหลีใต้ได้ เช่น มาตรการส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ หรือสมาร์ท ซิตี้ ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมาย คือ บริษัทผู้พัฒนาระบบอัจฉริยะด้านต่าง ๆ ซึ่งบริษัทชั้นนำของเกาหลีใต้มีศักยภาพสูงมาก และยังมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพื้นที่อีอีซี มีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ทางภาษีมากกว่าเดิม จะช่วยเพิ่มแรงจูงใจให้กับบริษัทเกาหลีใต้ที่กำลังตัดสินใจเลือกแหล่งลงทุนให้เลือกประเทศไทยโดยเฉพาะพื้นที่อีอีซี
ข้อมูลจากบีโอไอ ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2553-2560 มีบริษัทชั้นนำจากเกาหลีใต้ลงทุนในไทยกว่า 230 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวมกันกว่า 38,800 ล้านบาท อาทิ กลุ่มบริษัทในเครือพอสโก้ ผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ของเกาหลีใต้ บริษัท ไทยซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ บริษัท ซัมซุง อิเล็กทรอ-เมคคานิกส์ บริษัท แอลจี อิเล็กทรอนิกส์ บริษัทฮันออน ซิสเต็มส์ ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ บริษัท สุมิเดน ฮโยซอง สตีล คาร์ด ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ และบริษัท ฮานซอล เทคนิคส์ ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีการเสวนาธุรกิจและการประชุมหารือระหว่างผู้บริหารระดับสูงของภาคเอกชนไทยและเกาหลีใต้ ร่วมกับบีโอไอและสำนักงานอีอีซี เพื่อแสวงหาความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนระหว่างกันในอนาคต ภายใต้การดำเนินนโยบายไทยแลนด์ 4.0 นโยบายการพัฒนาอีอีซี นโยบายส่งเสริมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการยกระดับสู่อุตสาหกรรม 4.0. – สำนักข่าวไทย