สำนักข่าวไทย 14 พ.ค. – ผอ.หอศิลปฯ กทม. ย้ำ หอศิลปฯกทม. สร้างขึ้นมาเป็นแหล่งเรียนรู้ในตัว ไม่จำเป็นต้องมีโต๊ะเก้าอี้เป็นพันๆตัว ไม่ตอบหาก กทม.มาบริหารจะดีกว่าหรือไม่ ให้ประชาชนตัดสิน
นายปวิตร มหาสารินันทน์ ผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงกรณีที่รองผู้ว่าฯกทม. ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า ที่ต้องการเข้าไปบริหาร หอศิลปฯกทม. เองเพราะต้องการอยากใช้พื้นที่ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์กว่าที่เป็นอยู่ โดยระบุว่า การที่ผู้บริหาร กทม.ออกมาระบุในเรื่องนี้ ขออธิบายข้อเท็จจริงว่า แต่ละปี หอศิลปฯกทม. มีกิจกรรม 400 กว่ากิจกรรม นิทรรศการงานศิลปะจากทั่วทุกมุมโลก รวมถึงนักเรียนนักศึกษาอีก 100 กว่ากิจกรรมต่อปี กิจกรรมแต่ละปีที่จัดขึ้นมีเสียงสะท้อนจากผู้ใช้บริการทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ กลับมีเสียงสะท้อนบอกว่ากิจกรรมที่จัดเยอะเกินไป จึงไม่แน่ใจว่าใช้พื้นที่ที่มีอยู่ไม่เกิดประโยชน์ได้อย่างไร
ส่วนพื้นที่โล่งในหอศิลปฯในทางศิลปะ ต้องมีพื้นที่ว่างเพื่อสุนทรียะในการชมงานศิลปะด้วย หากผู้บริหาร กทม. นำสถานที่นี้ไปเทียบกับตลาด หรือศูนย์การค้า ก็คงจะไม่ถูกนัก เพราะพื้นที่ถูกสร้างมาคนละจุดประสงค์ และที่ผ่านมาการทำให้ผู้คนรู้จักหอศิลปฯก็ดีขึ้นต่อเนื่อง วัดจากคนที่มาเที่ยวชมปีที่แล้วมีมากถึง 1.7 ล้านคน
ส่วนในเฟซบุ๊กผู้ว่าฯกทม. ที่ระบุว่าอยากพัฒนาหอศิลปฯให้เป้นแหล่งเรียนรู้ หรือ Co-Working Space ต้องมีโต๊ะเก้าอี้ 2,000 ชุดเพิ่มเติมให้เด็กๆ นายปวิตร กล่าวว่า หอศิลปฯสร้างขึ้นมาเป็น แหล่งเรียนรู้ในตัวอยู่แล้ว เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ไม่จำเป็นต้องมีโต๊ะเก้าอี้เป็นพันๆตัว และจากการทำแบบสำรวจพบว่าร้อยละ 35 ที่มาใช้บริการเป็นนักเรียน นักศึกษา กลุ่มเหล่านี้มาเรียนรู้ในสิ่งที่อยากรู้ เรียนรู้ในสิ่งที่ในสถานศึกษาให้ไม่ได้ เพราะทุกวันนี้นอกจากงานศิลปะ ยังเชิญนักวิทยาศาสตร์ มาบรรยายเป็นวิธีการให้ความรู้ที่หลากหลาย เพราะทุกอย่างเกี่ยวข้องกับศิลปะทั้งหมด
“นิทรรศการศิลปะต่างๆที่เราทำขึ้นมาในแต่ละปี อยากรู้ว่าถ้า กทม.เข้ามาบริหาร กทม.จะทำได้ไหม ถ้าเป็นนิทรรศการพวกวาดรูป หรือปั้นดินน้ำมัน คงจะไม่ทำ ส่วนที่บอกว่าหากที่เป็นอยู่บริหารดีอยู่แล้วหรือไม่คงไม่ขอตอบ ต้องให้ประชาชนเป็นคนตัดสิน ย้อนกลับไปดูสิ่งที่ กทม.ทำอย่าง พิพิธภัณฑ์เด็ก กทม. เป็นอย่างไร ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับผู้ว่าฯกทม. ว่าฟังเสียงประชาชน หรือคนของท่านเอง” นายปวิตร กล่าว
ส่วนกระแสข่าวที่บอกว่าผู้ว่าฯกทม. ไปเดินที่หอศิลปฯและเจอภาพนักเรียนนอนอ่านหนังสือกับพื้น ติวการบ้านเป็นกลุ่มกับพื้นที่ เรื่องนี้ ตนในฐานะอาจารย์ที่มาหอศิลป์ตั้งแต่เปิดบริการในปี 2551 จนกระทั่งมารับหน้าที่ผู้อำนวยการที่นี่ยืนยันว่าไม่มีภาพในลักษณะนี้ ถามว่ามีกิจกรรมที่ต้องนั่งพื้นหรือไม่ ต้องบอกว่ามี แต่เด็กๆที่ร่วมกิจกรรมทางหอศิลปฯก็เตรียมเบาะรองไว้ให้ ตลอด 2 เดือนที่มารับตำแหน่งเดินตรวจพื้นที่ในหอศิลปฯตลอด ห้องสมุดไม่เคยเต็มมีพื้นที่ว่างให้เด็กตลอด
“ถ้าท่านระบุมาแบบนี้ขอหลักฐาน ที่ผ่านมาท่านผู้ว่าฯกทม.มาหอศิลปฯในฐานะประธานที่ปรึกษาฯแค่ 2 ครั้งและมาในช่วงมีงานกิจกรรม จึงอยากจะเชิญให้ท่านมาเดิมเยี่ยมชมว่าแท้จริงภายในหอศิลปฯเป็นอย่างไร การบริหารงานสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับงานศิลปะ มีผู้เกี่ยวข้องอยู่ 3 ส่วน คือ ศิลปิน ผู้สนับสนุน และผู้ชม ตอนนี้เหมือนกับว่ากำลังมีปัญหากัน ควรจะต้องมีการพูดคุยทำความเข้าใจกันอย่างจริงจัง ปัญหาจะคลี่คลายได้”
สำหรับแนวทางการเคลื่อนไหวหลังจากนี้ คงจะรอความชัดเจนจากทางผู้บริหาร กทม. เพราะทราบว่าวันพรุ่งนี้จะมีการประชุมหารือเพื่อหาข้อสรุปอย่างชัดเจนอีกครั้ง.-สำนักข่าวไทย