กทม.13พ.ค.-สปสช.จัดทำชุด ‘เพลงฉ่อยอีแซวบัตรทองมหาสนุก’ประยุกต์เพลงพื้นบ้านให้ความรู้เรื่องสิทธิหลักประกันสุขภาพ ‘สนุก-เข้าใจง่าย-ใช้สิทธิได้ถูกต้อง’ นำ ‘ขวัญจิต ศรีประจันต์’ ศิลปินแห่งชาติร่วมขับร้อง
นพ.จรัล ตฤณวุฒิพงษ์ ประธานคณะอนุกรรมการด้านการสื่อสารสังคมและรับฟังความคิดเห็นจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ตามยุทธศาสตร์ของคณะอนุกรรมการฯ ปี 2560-2564 ได้มุ่งเน้นประชาสัมพันธ์เชิงรุกเพื่อสร้างการรับรู้และความมั่นใจในสิทธิบัตรทองให้กับประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทองทั่วประเทศกว่า 48 ล้านคน ซึ่งประกอบด้วยประชากรหลากหลายกลุ่มอายุ หลากหลายสังคม และหลากหลายวัฒนธรรม ในการประชาสัมพันธ์จึงจำเป็นต้องใช้รูปแบบการสื่อสารหลายช่องทางเพื่อให้เข้าถึงผู้มีสิทธิบัตรทองทุกกลุ่ม
สำหรับจังหวัดภาคกลาง “เพลงฉ่อยอีแซว” เป็นเพลงพื้นเมืองที่ได้รับความนิยมโดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ มีการร้องทำนองตอบโต้ระหว่างชายหญิงที่ใช้ร้อยกรองอย่างสนุกสนาน จึงเป็นช่องทางหนึ่งในการสื่อสารเพื่อทำให้ผู้สูงอายุในจังหวัดภาคกลางเข้าใจเรื่องสิทธิบัตรทองได้ง่าย ด้วยการประยุกต์ใส่เนื้อร้องที่เป็นการให้ความรู้สิทธิบัตรทอง ทั้งการดูแลสุขภาพเมื่อเจ็บป่วยและรับบริการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคตามวัย โดย สปสช.ได้รับเกียรติจากศิลปินแห่งชาติ “แม่ขวัญจิต ศรีประจันต์” ผู้มีชื่อเสียงด้านการร้องเพลงฉ่อยอีแซวและได้รับความนิยมในกลุ่มผู้สูงอายุมาร่วมสื่อสารประชาสัมพันธ์สิทธิบัตรทอง
นอกจากนี้ “โอเล่ การละคร” ได้มาร่วมขับร้องเพลงฉ่อยอีแซวครั้งนี้ ที่เป็นการสร้างสีสันความสนุกสนานให้กับคนรุ่นใหม่ในคราวเดียวกัน
สำหรับการจัดทำเนื้อหาประชาสัมพันธ์สิทธิบัตรทองผ่านเพลงฉ่อยอีแซวดำเนินการภายใต้แนวคิด “เพลงฉ่อยอีแซวบัตรทองมหาสนุก”นอกจากเนื้อหาที่มุ่งให้ความรู้สิทธิบัตรทองกับผู้สูงอายุแล้ว ยังจัดทำเนื้อหาสื่อสารในประเด็นที่มักเป็นคำถามจากประชาชนทั่วไป โดยมีทั้งหมด 5 เรื่อง คือ 1.อีแซวสูงวัยห่างไกลโรค 2.ฉ่อยสิทธิหลักประกันผู้สูงวัยก็ได้นะจ๊ะ 3.ฉ่อยน่ารู้ สิทธิหลักประกันสุขภาพ 4.ฉ่อยเรื่องน่ารู้ สายด่วน สปสช. โทร. 1330 และ 5.ฉ่อยพระอภัยมณี ตอนนางเงือกปรึกษาโรคไต โดยเพลงฉ่อยอีแซวบัตรทองมหาสนุก เผยแพร่ช่องทางสื่อสารออนไลน์ และช่องทางเครือข่ายสื่อท้องถิ่น
“ชุดเพลงฉ่อยอีแซวบัตรทองมหาสนุกนี้ เป็นการสื่อสารประชาสัมพันธ์เชิงรุกแบบมีส่วนร่วมในรูปแบบหนึ่ง เพื่อให้เข้าถึงผู้มีสิทธิบัตรทอง ไม่เพียงแต่สร้างความรู้และความเข้าใจในสิทธิบัตรทอง แต่หวังผลให้เกิดการรับรู้
หน้าที่และการใช้สิทธิบัตรทองรับบริการสาธารณสุขได้อย่างถูกต้อง และที่สำคัญยังเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการอนุรักษ์เพลงพื้นบ้านให้คงอยู่กับวัฒนธรรมไทยตลอดไป” นพ.จรัล กล่าว .-สำนักข่าวไทย