นนทบุรี 11 พ.ค. – อนุกรรมการฯ ยังไม่เคาะวันบังคับใช้มาตรฐานบัญชี IFRS9 มอบ ธปท.-สภาวิชาชีพบัญชีกำหนดแนวปฏิบัติ เพื่อผ่อนคลายผลกระทบสถาบันการเงิน-เอสเอ็มอี
นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี (กกบ.) ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการให้ความเห็นชอบมาตรฐานการบัญชี เปิดเผยว่า วันนี้ (11 พ.ค.) คณะอนุกรรมการศึกษามาตรการเพื่อลดผลกระทบจากการนำมาตรฐานการรายงานทางการเงิน-กลุ่มเครื่องมือทางการเงินไปปฏิบัติได้มีการหารือวาระเร่งด่วน เพื่อพิจารณาแนวทางการลดผลกระทบจากการใช้มาตรฐานการบัญชี IFRS 9 โดยเห็นควรให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสภาวิชาชีพบัญชี กำหนดแนวทางปฏิบัติภายใต้กรอบของ IFRS9 เพื่อให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย และผ่อนคลายผลกระทบจากการนำ IFRS9 มาใช้บังคับให้แก่สถาบันการเงินและธุรกิจเอสเอ็มอี
ทั้งนี้ ที่ประชุมจะพิจารณาเรื่องวันบังคับใช้ที่เหมาะสมในการประชุมครั้งถัดไป ก่อนเสนอให้ กกบ.พิจารณาชี้ขาดและระหว่างนี้ให้สภาวิชาชีพบัญชีโดยคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชีจัดตั้งคลินิกบัญชีเฉพาะกิจสำหรับ IFRS9 เพื่อให้คำปรึกษาและตอบข้อซักถาม
นอกจากนี้ สภาวิชาชีพบัญชีจะรับเป็นเจ้าภาพหลักในการจัดอบรมให้กับผู้ทำบัญชีและนิติบุคคลที่จะต้องปฏิบัติฯ โดยเน้นรูปแบบการอบรมลักษณะ Workshop เพื่อให้มีความเข้าใจหลักการของมาตรฐานการบัญชีให้มากขึ้นจะมีการจัดทำตัวอย่างในการสร้าง Business Model ให้สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนจะตั้งคลินิกบัญชีเฉพาะกิจเพื่อตอบคำถามทุกเรื่องที่เกี่ยวกับการจัดทำรายงานทางการเงินตามมาตรฐานการบัญชี IFRS9 โดยมี ธปท. สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กรมสรรพากร ตลอดจนผู้สอบบัญชีที่อยู่ในตลาดทุนร่วมเป็นผู้ให้คำปรึกษา
“รายงานทางการเงินนับเป็นหัวใจสำคัญในการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนทั่วโลก ซึ่งนักลงทุน ผู้บริหาร และผู้ประกอบการในตลาดทุนให้ความสนใจในบทวิเคราะห์งบการเงิน ผลการดำเนินงาน และกระแสเงินสดของกิจการที่ต้องการเข้าร่วมลงทุน ทั้งนี้ รายงานทางการเงินที่ดีต้องมีรูปแบบที่อ่านและเข้าใจง่าย สามารถสะท้อนรายการธุรกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นรายการซื้อ-ขายแต่ละวัน หรือธุรกรรมที่เกิดขึ้นใหม่ มีความโปร่งใส น่าเชื่อถือ และต้องมีรูปแบบตรงตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศ เพื่อเป็นข้อมูลให้นักลงทุนตัดสินใจลงทุนในกิจการนั้นๆ ซึ่งประเทศไทยจะสามารถก้าวเข้าสู่มาตรฐานการรายงานทางการเงินสากลอย่างเต็มรูปแบบด้วยความภาคภูมิ” นางนันทวัลย์ กล่าว
สำหรับมาตรฐานการรายงานทางการเงินสากลอย่างเต็มรูปแบบ จะเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศ หรือ IFRS ที่ใช้เป็นมาตรฐานเดียวกันกว่า 140 ประเทศทั่วโลก ถือเป็นการยกระดับมาตรฐานการรายงานทางการเงิน และส่งเสริมให้รายงานทางการเงินของประเทศไทยมีความน่าเชื่อถือในสายตาของนักลงทุนมากขึ้น ส่งผลให้ไทยเป็นประเทศที่น่าเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจ ทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตไปข้างหน้าอย่างมั่นคง รองรับการเปิดการค้าเสรีของโลกที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน
ทั้งนี้ กกบ.มีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 60 แห่ง พ.ร.บ.วิชาชีพบัญชี พ.ศ.2547 คือ กำกับดูแลการดำเนินกิจการของสภาวิชาชีพบัญชีให้เป็นไปตามกฎหมายและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์สภาวิชาชีพบัญชี ให้ความเห็นชอบมาตรฐานการบัญชี รวมถึงอำนาจในการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อปฏิบัติการตามที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ กกบ. สำหรับคณะอนุกรรมการฯ แต่งตั้งโดย กกบ. ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิทางบัญชี ผู้แทนจาก ก.ล.ต. ธปท. ผู้แทนคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ผู้แทนสภาวิชาชีพบัญชี และผู้แทนกรมพัฒนาธุรกิจการค้า.-สำนักข่าวไทย