กรุงเทพฯ 10 พ.ค. – กระทรวงเกษตรฯ
ชี้แจงบริษัทเอกชนอ้างได้รับเงินจากยูเอ็นเข้าข่ายฉ้อโกงหลอกลวงเกษตรกรในโครงการเกษตรพันธสัญญา
สั่งเร่งตรวจสอบเอกสารตั้งแต่วันพรุ่งนี้เพื่อดำเนินการต่อไป
ได้ตรวจสอบและประสานกับสำนักบริหารกองทุนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและรับเรื่องร้องเรียน
(สกร.) แล้วสรุปข้อเท็จจริงได้ดังนี้
1.สกร.เคยรับเรื่องร้องเรียนจากประธาน กรรมการบริหารบริษัท
ไชน่าอินเตอร์คอร์ปอเรชั่น จากัด และที่ปรึกษาสหกรณ์การเกษตร วัน วัน วัน
จำกัด ขอให้แจ้งเตือนและตรวจสอบกรณีบริษัท พันปี กรุ๊ปฯ
ผิดข้อตกลงสัญญาซื้อขายข้าวและมีพฤติกรรมหลอกลวงฉ้อโกงสมาชิกสหกรณ์การเกษตรฯ
และเกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (สป.กษ.)
ได้ส่งเรื่องให้กรมส่งเสริมการเกษตร กรมประมง กรมปศุสัตว์
และกรมส่งเสริมสหกรณ์ เพื่อแจ้งเตือนเกษตรกรและองค์กรเกษตรกรให้ระมัดระวัง
รวมทั้งแจ้งสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดสุรินทร์เพื่อทราบเป็นข้อมูลในการประสานงานติดตามความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เรียบร้อยแล้ว
อีกทั้งได้รับแจ้งจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน จ.สุรินทร์
และกองบัญชาการตำรวจสันติบาล ว่า นายพิชย์พิพรรธ ศรีตระกูลรักษ์ หรือพันปี
หรือปีเตอร์ และทีมงาน เคยถูกศาลออกหมายจับคดีฉ้อโกงหลายพื้นที่
โดยขณะนี้อยู่ระหว่าง สป.กษ. ส่งเรื่องให้กรมส่งเสริมการเกษตร
กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมประมง และกรมปศุสัตว์
เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาดำเนินการต่อไป
2.บริษัท พันปี กรุ๊ป(ไทย ลาว กัมพูชา จำกัด)
ได้แจ้งการประกอบธุรกิจในระบบเกษตรพันธสัญญาต่อ สป.กษ.
โดยมีผลเป็นการแจ้งการประกอบธุรกิจตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2561
อย่างไรก็ตาม
ยังไม่ปรากฏข้อมูลว่าบริษัทดังกล่าวได้ทำสัญญาในระบบเกษตรพันธสัญญา
เนื่องจากยังไม่ปรากฏว่ามีการจัดส่งสำเนาเอกสารสำหรับการชี้ชวนให้ สป.กษ.
ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตร (บริษัทฯ) ต้องจัดส่งภายใน 30 วัน
หลังจากที่มีการทำสัญญาครั้งแรกตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการในการจัดส่งและเก็บรักษาเอกสารสำหรับการชี้ชวนเกษตรกรในระบบเกษตรพันธสัญญา
ทั้งนี้ ข้อกฎหมายระบุว่ากรณีที่บริษัทฯ
มีเจตนาทุจริตหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ
ทำให้เกษตรกรเข้าทำสัญญากับบริษัทฯ ทำเอกสารสิทธิ์
การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา
341 และเมื่อการกระทำดังกล่าวได้ทำต่อประชาชน จึงมีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน
ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 ซึ่งเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน
นอกจากนี้ การกระทำของบริษัท พันปี กรุ๊ปตามที่ปรากฏตามสื่อออนไลน์ต่าง ๆ เป็นการกระทำที่มีลักษณะทุจริตหรือหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน ตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550
นายพีรพันธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแนวทางการดำเนินการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อแก้ไขและป้องกันปัญหานี้นั้น ได้มีหนังสือแจ้งไปยังบริษัทฯ ให้จัดส่งสำเนาเอกสารสำหรับการชี้ชวนและร่างสัญญาของบริษัทฯ ที่ใช้ในการทำสัญญาส่งเสริมกับเกษตรกร เพื่อตรวจสอบรายละเอียดเงื่อนไขของสัญญา รวมทั้งแจ้งให้เกษตรและสหกรณ์จังหวัดตรวจสอบข้อมูลจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการกับบริษัทฯ ในพื้นที่ว่ามีการทำสัญญาหรือไม่อย่างไร และมีรายละเอียดอะไรบ้าง เนื่องจากบริษัทฯ ได้ส่งข้อมูลเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการให้ สลพ.แล้ว และหากบริษัทฯ มีการเข้าทำสัญญา โดยไม่มีการจัดทำเอกสารสำหรับการชี้ชวนก็จะมีโทษปรับไม่เกิน 300,000 บาท ตลอดจนประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบข้อกล่าวอ้างของบริษัทฯ เกี่ยวกับการสนับสนุนเงินทุนจากยูเอ็นว่าเป็นความจริงหรือเป็นความเท็จประการใด พร้อมทั้งกำกับ ดูแล ติดตามการประกอบธุรกิจของบริษัทฯ และการทำสัญญาระหว่าง บริษัทฯ กับเกษตรกรอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ความช่วยเหลือเกษตรกร นอกจากนี้ จะทำการแจ้งความดำเนินคดีกับบริษัทฯ หากปรากฏข้อเท็จจริงว่าบริษัทฯ มีความผิดตามกฎหมาย ล่าสุดพบฐานความผิดใน 5 จังหวัด คือ สุรินทร์ เลย สกลนคร บึงกาฬ และอุบลราชธานี โดยพรุ่งนี้ (11 พ.ค.) จะสั่งเจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรฯ ลงพื้นที่ตรวจสอบต่อไป.-สำนักข่าวไทย