ทำเนียบฯ 9 พ.ค.- นายกฯ ประชุมคณะกรรมการเตรียมการไซเบอร์แห่งชาติ ครั้งแรก ตั้งงบ 350 ล้านบาท พัฒนาบุคลากรรับมือภัยคุกคามไซเบอร์ เร่งกระทรวงดีอี ออกกฎหมาย 2 ฉบับ เพื่อให้เข้าสู่มาตรฐานสากล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (9 พ.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเตรียมการไซเบอร์แห่งชาติ (Cyber Security) ครั้งที่ 1/2561 ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล ร่วมกับ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นายกรัฐมนตรี กล่าวก่อนการประชุมว่า ปัจจุบันมีกระแสข่าว ที่เป็นทั้งข่าวเท็จและข่าวลวง ซึ่งเหล่านี้เกิดจากกระบวนการความคิดของคน แสดงให้เห็นว่าคนไม่หยุดคิด ดังนั้น จึงต้องการให้มีการจัดตั้งหน่วยงานกลางขึ้นมาดูแล เพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกัน เพื่อความปลอดภัยไซเบอร์ ขอให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) และสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) เร่ง ออกกฏหมาย 2 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ และร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
“โดยเฉพาะร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล จะต้องเร่งให้มีผลบังคับใช้ก่อน เพื่อให้สามารถทำการค้ากับต่างประเทศได้ และสอดคล้องกับมาตรฐานสากล” นายกรัฐมนตรี กล่าว
ด้าน นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ดีอี แถลง ภายหลังการประชุม ว่า การประชุมครั้งนี้ ถือเป็นนัดแรกของคณะกรรมการชุดนี้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ย้ำว่า ทั่วโลกมีการโจมตีทางด้านไซเบอร์ในลักษณะต่างๆ เกิดขึ้นโดยตลอด ดังนั้น ไทยต้องรักษาโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ 6 กลุ่มแรกไว้ให้ได้ ประกอบด้วย งานความมั่นคง ,กลุ่มงานสารสนเทศ, การคมนาคม , สาธารณสุข , การเงินการธนาคาร ตลาดหลักทรัพย์ และพลังงาน ด้วยการซ้อมรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ รวมถึง จัดทำแผนปฏิบัติการในการรับมือ
นายพิเชฐ กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบแนวทางปฏิบัติที่ตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อดูแลสังคม และโครงสร้างพื้นฐาน พร้อมกันนี้ ยังได้จัดตั้งหน่วยงานชั่วคราว ที่จะดูแลความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ในทันที โดยไม่ต้องรอให้กฎหมายผ่านการบังคับใช้ เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงจากการถูกโจมตีในช่วงเวลานี้ส่วนการจัดตั้งศูนย์ความร่วมมืออาเซียน-ญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาบุคลากรความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ จะเป็นโอกาสสำคัญที่จะได้รับความรู้และประสบการณ์ เพื่อมายกระดับขีดความสามารถของบุคลากรไทย
“ไทยได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพในการจัดตั้งศูนย์ และจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในเดือนมิถุนายนนี้ โดยไทยจะเพิ่มกำลังคนไซเบอร์ ด้วยการพัฒนาบุคลากรประมาณ 1,000 คน มาทำหน้าที่ในการรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์โดยเฉพาะ ตั้งงบในการพัฒนาบุคลากรนี้ไว้ 350 ล้านบาท นายพิเชฐ กล่าว และคาดหวังว่า ในการประเมินความพร้อมด้านความมั่นคงไซเบอร์ในเวทีสากล ไทยจะได้รับการปรับอันดับให้อยู่ใน 20 อันดับต้นๆของโลก .- สำนักข่าวไทย