กรุงเทพฯ 8 พ.ค. – สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือฯ ปรับคาดการณ์ส่งออกปี 61 เพิ่มเป็นร้อยละ 8 จากหลายปัจจัยหนุน แต่ยังกังวลทั้งค่าเงินและความไม่แน่นอนทางเมืองต่างประเทศต้องจับตาอย่างใกล้ชิด
น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า สรท.ได้ประเมินภาพรวมการส่งออกสินค้าไทยไปตลาดต่างประเทศปีนี้ใหม่ ซึ่งมีหลายปัจจัยบวกทั้งจากเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าหลักและตลาดรองที่ฟื้นตัวดีขึ้น ขณะที่ประเทศไทย มีการกระจายโครงสร้างส่งออกตลาดได้ดี ไม่พึ่งพาเฉพาะตลาดหลักเท่านั้น รวมทั้งภาคการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมโดยเฉพาะชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สามารถปรับตัวรองรับตามกระแสอินเทอร์เน็ตอ๊อฟติง ตลอดจนทิศทางราคาน้ำมันดิบที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น
นอกจากนี้ กระแสการผลักดันธุรกิจอี-คอมเมิร์ซของภาครัฐเป็นโอกาสในการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้า เห็นได้ชัดเจนจากความร่วมมือกับอาลีบาบากรุ๊ป เพื่อเปิดตลาดจีน ทำให้การส่งออกของไทยยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยเดือนมีนาคมที่ผ่านมามีมูลค่าส่งออกถึง 22,363 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้ไตรมาสแรกปี 2561 มีมูลค่าส่งออกรวม 62,829 ล้านดอลลาร์สหรัฐขยายตัวร้อยละ 11.3 จึงเชื่อว่าภาพรวมการส่งออกช่วงที่เหลือจะส่งผลให้ปีนี้การส่งออกน่าจะขยายตัวถึงร้อยละ 8 ซึ่งเป็นเป้าหมายเท่ากับกระทรวงพาณิชย์ จากเดิมคาดว่าจะขยายตัวได้เพียงร้อยละ 6
ทั้งนี้ ยังคงต้องติดตามปัจจัยจากค่าเงินบาทแข็งค่าที่เริ่มส่งผลกระทบต่อการส่งออกในรูปของเงินบาท ที่ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมามีมูลค่ารวม 697,074 ล้านบาท ลดลงถึงร้อยละ 4 ซึ่งจะมีผลกระทบต่อผลประกอบการของผู้ส่งออก แต่ขณะนี้ค่าเงินบาทเริ่มอ่อนตัวลง และอยู่ที่ 31.7 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ยังอยู่ในสมมติฐาน 31.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อีกทั้งยังมีปัญหาความไม่แน่นอนจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน รวมถึงสถานการณ์ราคาสินค้าเกษตรบางชนิดที่ยังตกต่ำ
อย่างไรก็ตาม ภาครัฐควรสร้างความเข้าใจและเตรียมความพร้อมให้กับเอสเอ็มอีในการรับมือและพิจารณาการใช้เครื่องมือทางการเงิน เพื่อประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และคอยติดตามข่าวสารสถานการณ์ทางการค้าอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อโครงสร้างต้นทุนสินค้า รวมทั้งเร่งเจรจาการค้าเสรีภายใต้กรอบความร่วมมือต่าง ๆ เพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรองทางการค้าระยะยาวและลดผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้า และการที่ไทยร่วมมือกับทางกลุ่มอาลีบาบาถือเป็นสิ่งที่ดีต่อการขยายสินค้าไทย แต่สิ่งที่ต้องกลับมาดูแล คือ คุณภาพสินค้าจะต้องพัฒนาให้มีมาตรฐานยิ่งขึ้น พร้อมทั้งรัฐบาลจะต้องส่งเสริมให้กลุ่มเอสเอ็มอีไทยมีการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย.-สำนักข่าวไทย