ก.ศึกษาฯ 7 พ.ค.-ก.ศึกษาฯจับมือธนาคารออมสิน ลงนาม MOUใหม่ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยโครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค.และช.พ.ส. เป็นเงินกว่า 2พันล้านบาทต่อปี หวังแก้ปัญหาหนี้ครู
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธานเเละสักขีพยานในการลงนามบันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมโครงการสวัสดิการเงินกู้ การฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา(ช.พ.ค.)และโครงการสวัสดิการเงินกู้แก่สมาชิกการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษาในกรณีคู่สมรสถึงแก่กรรม(ช.พ.ส.)ครั้งที่ 1 เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินของครูซึ่งเป็นผู้กู้ ระหว่างนายชาติชาย พยุหนาวิชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน และนายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการ และสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา(สกสค.)
นพ.ธีระเกียรติ กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมบันทึกข้อตกลงเดิม ซึ่งมีสาระสำคัญคือ มีการปรับเงื่อนไขเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินครู จากเดิมที่ธนาคารออมสินจ่ายเงินสนับสนุน สกสค.ตามอัตรา และระยะเวลาที่กำหนด เพื่อพัฒนากองทุนและชำระหนี้แทนผู้ค้างชำระ เปลี่ยนเป็นให้เงินคืนแก่สมาชิกที่มีการชำระเงินดี โดยหลังลงนามบันทึกข้อตกลงแล้วจะมีผลทันที กับกลุ่มลูกหนี้กว่าร้อยละ90 ที่เป็นลูกหนี้ดี ที่จะได้รับเงินคืนร้อยละ 0.5 ถึง 1 ตั้งเเต่เดือนมิถุนายน 2561 ซึ่งในโครงการนี้มีครูร่วมโครงการประมาณ 4 แสนคน มีหนี้รวมประมาณ 4 แสนล้านบาท โดยมีร้อยละ 90 ที่ชำระหนี้ตามกำหนด พร้อมกับยืนยันว่าโครงการนี้เป็นประโยชน์ต่อครูที่มีวินัยทางการเงิน และเพื่อไม่ให้ครูเสียประโยชน์จากครูที่ไม่ชำระหนี้
ด้านนายชาติชาย กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงครั้งนี้ มี 2 แนวทางให้ครูได้เลือก คือนำดอกเบี้ยที่ลดลงในแต่ละเดือนไปชำระเงินต้นรายเดือน ทำให้ระยะเวลาหนี้ลดลงเร็วขึ้น และนำดอกเบี้ยที่ลดลงไปลดการชำระหนี้รายเดือนทำให้แต่ละเดือนชำระลดลงแต่เวลาชำระหนี้เท่าเดิม ซึ่งที่ผ่านมา ธนาคารได้หักเงินส่วนที่ครูค้างชำระและต้องส่งสนับสนุน สกสค.แล้วประมาณ 10,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามกลุ่มครูที่ไม่ชำระหนี้ตรงเวลา ซึ่งจะไม่ได้สิทธิ์ประโยชน์ตรงนี้ หากเข้ามาปรับโครงสร้างหนี้กับธนาคาร ก็สามารถเข้าร่วมได้เช่นกัน โดยตอนนี้ มีลูกหนี้เข้ามาร่วมแล้วประมาณร้อยละ 80 ของกลุ่ทครูที่ไม่ชำระตรงเวลา สำหรับยอดรวมจำนวนเงินจากการ MOU ครั้งนี้ เป็นเงินกว่า 2,000 ล้านบาทต่อปี .-สำนักข่าวไทย