ศาลาว่าการกทม. 30เม.ย.-เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค จี้ กทม.แก้ตู้น้ำหยอดเหรียญเถื่อนหลังพบไม่ได้มาตรฐานกว่าร้อยละ 91
เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร รวมตัวกันบริเวณหน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร พร้อมถือป้ายที่ระบุภาพและข้อความที่สื่อความหมายถึงความไม่ปลอดภัยของตู้น้ำหยอดเหรียญ เพื่อเรียกร้องให้ กทม.แก้ไขปัญหาตู้น้ำหยอดเหรียญเถื่อนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร หลังเคยเรียกร้องไปแล้วเมื่อ 2 ปีก่อน แต่กลับไม่มีความคืบหน้าใดๆ
นางสาวมลฤดี โพธิ์อินท์ นักวิชาการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกล่าวว่า เมื่อปี 58 คณะกรรมการองค์การอิสระการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน(คอบช.) ร่วมมือกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สุ่มตรวจตู้น้ำหยอดเหรียญในพื้นที่ กทม. 18 เขต 855 ตู้ พบว่า เป็นตู้น้ำหยอดเหรียญเถื่อนไม่มีการขออนุญาต ไม่ได้มาตรฐานกว่าร้อยละ 91.76 สถานที่ตั้งไม่เหมาะสม อยู่ใกล้ฝุ่น กว่าร้อยละ 76.3 และตั้งอยู่ริมถนน ริมทางเท้า ใกล้แหล่งระบายน้ำเสีย น้ำขัง ร้อยละ 28.3 ใกล้ที่ทิ้งขยะทำให้มีแมลงสาบ หนูและแมลงวันร้อยละ 22 เป็นต้น ซึ่งเมื่อปี 60 ก็ได้สำรวจกลับพบว่า ได้ผลไม่ต่างกัน ทั้งที่เมื่อ 2 ปีก่อน ทางเครือข่ายฯได้เรียกร้องให้ กทม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาแก้ไขปัญหา แต่กลับไม่ได้รับการตอบกลับแต่อย่างใด วันนี้ (30 เม.ย.)ซึ่งตรงกับวันสิทธิผู้บริโภคไทย เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร จึงรวมตัวเข้ายื่นหนังสือถึง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเรียกร้องให้เห็นความสำคัญของความปลอดภัยของผู้ใช้บริการตู้น้ำหยอดเหรียญและรีบดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
นางชนัญชิดา ตัณฑะผลิน เครือข่ายผู้บริโภค กล่าวว่า สำหรับข้อเรียกร้อง ที่ทางเครือข่ายเสนอเพื่อเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาสำหรับ กทม. มีดังนี้ คือ กทม.ต้องสั่งการให้สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ยกเลิกตู้น้ำหยอดเหรียญเถื่อนและบังคับใช้กฎหมายให้ผู้ประกอบการต้องขอใบอนุญาตประกอบกิจการตู้น้ำหยอดเหรียญ และต้องติดตามตรวจสอบตู้น้ำหยอดเหรียญที่ติดตั้ง ว่าได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการหรือไม่ มีคุณภาพของตู้มากน้อยเพียงใด มีสารอันตรายใดปนเปื้อนบ้าง และนำข้อมูลผลการทดสอบคุณภาพน้ำ มาเปิดเผยให้ผู้บริโภคได้ทราบ พร้อมทั้งทำสติ๊กเกอร์วันเดือนปีที่ผลิตไส้กรอง และวันเดือนปีที่ตรวจคุณภาพน้ำให้เจ้าของตู้ติดไว้บนหน้าตู้ด้วย.-สำนักข่าวไทย