กรุงเทพฯ 27 เม.ย. – กฟผ.เล็งธุรกิจใหม่บริหารจัดการไฟฟ้าในนิคมอุตสาหกรรมรูปแบบสมาร์ทกริด และร่วมทุนธุรกิจเอ็นเนอร์ยีสตอเรจ ล่าสุดจับมือ กสท โทรคมนาคม รุกนวัตกรรมดิจิทัลเชื่อมต่อการบริหารจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
วันนี้ (27 เม.ย.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือการบูรณาการด้านดิจิทัลและพลังงาน เพื่อเสริมสร้างโอกาสและความร่วมมือทางธุรกิจในอนาคต โดยทั้ง 2 หน่วยงานจะใช้ความสามารถของแต่ละองค์กรมาทำงานร่วมกัน
พันเอกสรรพชัย หุวะนันท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.กสท กล่าวว่า กสท จะให้การสนับสนุนด้านโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคม และ Big Data ในการทำโครงการ Smart Energy พร้อมกันนี้จะร่วมกันศึกษาและพัฒนาการเชื่อมโยงและบูรณาการการดำเนินธุรกิจโทรคมนาคมและธุรกิจพลังงานไฟฟ้าที่สำคัญ ๆ อย่างต่อเนื่อง
นายวันชัย ศิวอาทิตย์กุล ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารธุรกิจ กฟผ. กล่าวว่า ความร่วมมือเช่นนี้เป็นการร่วมมือของรัฐวิสาหกิจตามนโยบายของกระทรวงรัฐบาลที่จะเดินหน้าด้านธุรกิจร่วมกัน โดยก่อนหน้านี้จับมือ ปตท.ไปแล้ว ซึ่งในส่วนของ กฟผ.ยังศึกษาการทำธุรกิจใหม่ ๆ เช่น การเจรจาหาโอกาสร่วมทุนผลิตระบบสำรองไฟฟ้า หรือเอนเนอร์ยี่สตอเรจ ซึ่งกำลังหารือกับเจ้าของเทคโนโลยี เพื่อมาร่วมทุนสร้างโรงงานในไทย นอกจากนี้ กฟผ.ยังพัฒนาโปรแกรมด้าน EMS (Energy Management System ) เชื่อมต่อการให้บริการโครงการสมาร์ทกริทในนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ นับเป็นการรองรับการผลักดันอุตสาหกรรมดิจิทัลใหม่ หรือ New S-Curve Digital Industry ของประเทศ เสริมสร้างความมั่นคงของพลังงานไฟฟ้า และสนับสนุนการอนุรักษ์พลังงานอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าฯ กฟผ. กล่าวว่า จุดมุ่งหมายสำคัญของความร่วมมือครั้งนี้ คือ การนํานวัตกรรมพลังงานไฟฟ้ามายกระดับประสิทธิภาพของระบบพลังงานไฟฟ้าก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศไทย รวมถึงเป็นการเตรียมรองรับการเปลี่ยนแปลงให้ประเทศไทยพร้อมก้าวเข้าสู่ยุคของ “Energy 4.0” ประกอบด้วย การศึกษาพัฒนาระบบตอบสนองความต้องการทางไฟฟ้า (Demand Response) เพื่อควบคุมการใช้ไฟฟ้าให้เหมาะกับต้นทุนการผลิตไฟฟ้าในแต่ละช่วงเวลาได้อย่างเหมาะสมผ่านมาตรการต่างๆ อาทิ การใช้เครื่องกําเนิดไฟฟ้าสํารอง (Standby Generator) การควบคุมอุณหภูมิปรับอากาศ การควบคุมระบบไฟฟ้าแสงสว่าง การปรับลดโหลดชั่วคราว ร่วมกับการออกแบบด้านการนำเทคโนโลยีมาเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในพื้นที่หรืออาคารให้เกิดประโยชน์สูงสุด (Energy Efficiency) ในอนาคตอาจพิจารณาการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ (Solar) ระบบกักเก็บพลังงานสำรอง และนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาบริหารจัดการพลังงานภายในพื้นที่แบบครบวงจร. – สำนักข่าวไทย