กรุงเทพฯ 25 เม.ย. – ปัญหาการไล่รื้อสิ่งปลูกสร้าง บ้านเรือน ภายในชุมชนป้อมมหากาฬ ภายใต้กฎหมายเวนคืนที่ดิน ปี 2535 ทำให้ชาวบ้านเกิดข้อพิพาทกับ กทม. ยืดเยื้อยาวนานกว่า 26 ปี และวันนี้ถึงจุดสิ้นสุด ปิดฉาก “ชุมชนป้อมมหากาฬ” ห้ามประชาชนอยู่อีกต่อไป
กว่า 2 ทศวรรษ กับการต่อสู้ดิ้นรนของคนในชุมชนป้อมมหากาฬ หลัง กทม.บังคับใช้กฎหมายเวนคืนที่ดิน ปี 2535 ชาวบ้านยืนหยัดปกป้องสิทธิ ร่วมกับเครือข่ายอนุรักษ์ นักประวัติศาสตร์ ต่อต้านการไล่รื้อของ กทม. ทุกยุคทุกสมัย
กระทั่งปลายปี 2559 กทม.จุดชนวนความตึงเครียด ส่งสัญญาณเข้ารื้อถอนครั้งแรกในรอบกว่า 20 ปี จนเกือบเกิดเหตุปะทะ เพิ่มความหวาดระแวงให้ชาวบ้านอีกเท่าตัว
ไม่ถึง 6 เดือน มีนาคม 2560 สถานการณ์กลับมาร้อนระอุ มีทหารเข้าร่วมเจรจา เป็นกาวใจระหว่างชาวบ้านกับ กทม. จนถึงวันนี้ การต่อสู้สิ้นสุดลง ชาวชุมชนป้อมมหากาฬทุกคนจำใจลาจากรากเหง้าของตนเอง เดินหน้าปลุกชีวิตชุมชนป้อมมหากาฬบนพื้นที่แห่งใหม่ ย่านพุทธมณฑลสาย 2 เพื่อบันทึกความทรงจำเป็นบทเรียนที่ทรงคุณค่า
สิ้นเดือนเมษายนนี้ กทม.ทุ่ม 69 ล้านบาท บูรณะซ่อมแซมความเสียหายแนวกำแพงรอบป้อม เสริมความแข็งแรงของโครงสร้างโบราณสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์เป็นสวนสาธารณะชั่วคราว คาดแล้วเสร็จภายใน 1 เดือน ส่วนรูปแบบพัฒนาพื้นที่ถาวร อยู่ระหว่างหารือร่วมกับกรมศิลปากร
“ป้อมมหากาฬ” พื้นที่ทางประวัติศาสตร์กว่า 200 ปี เป็น 1 ใน 2 ป้อมที่ยังคงเหลืออยู่ในชานเมืองพระนคร ก่อสร้างสมัยรัชกาลที่ 1 ซึ่งมีวิถีชีวิตชุมชน ผู้คนอาศัยอยู่หลังกำแพงกว่า 50 หลังคาเรือน 200 ชีวิต หลังจากนี้พื้นที่กว่า 4 ไร่ คงเหลือไว้เพียงความทรงจำ กลายเป็น “พิพิธภัณฑ์ไร้ชีวิต” – สำนักข่าวไทย