สธ. 23 เม.ย.-รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ชี้กรณีเหตุการณ์หนุ่มไลฟ์ทำร้ายขู่ฆ่าแฟนสาวเป็นตัวอย่างการควบคุมตัวเองไม่ได้ของผู้ใช้ยาเสพติด ย้ำมีปัญหาเครียด อย่าพึ่งยาเสพติด ยิ่งซ้ำเติม กลายเป็นผู้ป่วยโรคทางจิตได้
นพ.สมัย ศิริทองถาวร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์กรณีเหตุการณ์หนุ่มแอดมินเพจสอนการลงทุน ไลฟ์ทำร้ายขู่ฆ่าแฟนสาว และเจ้าหน้าที่บุกเข้าช่วยเหลือเหยื่อพร้อมจับกุมตัวชายหนุ่มที่อยู่ในอาการเมายาบ้า พูดจาไม่รู้เรื่อง ผลการตรวจพบสารสารแอมเฟตามีน หรือยาบ้าในร่างกาย ว่า กรณีที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้คนทั่วไปได้เห็นเหตุการณ์จริงของภัยจากยาเสพติด ซึ่งเมื่อเสพเข้าไปแล้วผู้เสพจะไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ และคนทั่วไป หรือคนใกล้ชิด ก็ไม่สามารถทำนายเหตุการณ์ความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นได้ จึงย้ำเตือนประชาชนว่าเมื่อมีปัญหาเครียด ไม่สบายใจ อย่าพึ่งยาเสพติด เนื่องจากจะยิ่งเป็นการซ้ำเติมปัญหา และอาจกลายเป็นผู้ป่วยโรคทางจิตได้ง่าย
รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การใช้สารเมทแอมเฟตามีน หรือ ยาบ้า มีความสัมพันธ์กับการเกิดอาการทางจิตหรือเรียกว่าเกิด “ภาวะโรคร่วมจิตเวชสารเสพติด” ได้ โดยเมื่อยาบ้าผ่านเข้าสู่สมอง จะมีผลทำให้สารสื่อนำประสาทหรือที่มีชื่อว่า “สารโดปามีน ” ในสมองผิดปกติ เกิดอาการทางจิตแบบมีภาวะหวาดระแวง ได้แก่ อาการหลงผิด ประสาทหลอน หูแว่ว หวาด ระแวง เช่น กลัวจะมีคนมาทำร้าย คนรักนอกใจ เป็นต้น ซึ่งจะนำไปสู่พฤติกรรมที่ใช้ความรุนแรง มีการทำร้ายตนเอง ทำร้ายบุคคลใกล้ชิด ดังเหตุการณ์ข่าวที่เกิดขึ้น ในปีที่ผ่านมามีผู้ป่วยโรคจิตเวชที่เกิดจากการใช้ยาเสพติดเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลรัฐสูงถึง 359,257 คน
“คนที่ติดยาเสพติดส่วนใหญ่ มักไม่ยอมรับว่าตัวเองติดยาเสพติด แต่จะคิดว่าจะเลิกเสพเมื่อไหร่ก็ได้ซึ่งเป็นความคิดที่ผิดเนื่องจากสมองได้ถูกทำลายไปแล้ว จึงจำเป็นต้องได้รับการบำบัดรักษาและสมองจะไม่มีวันกลับมาเหมือนเดิม ประมาณว่าประชากรไทย 60 ล้านคน มีคนเสพและคนติดยาเสพติด ประมาณล้านกว่าคน ซึ่งเกือบร้อยละ 70เป็นเด็กและเยาวชน อายุไม่เกิน 24 ปี อายุน้อยที่สุดคือ 7ขวบและในกลุ่มมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 1-6 มีอัตราการใช้ยาเสพติดสูงที่สุด” รองอธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว .-สำนักข่าวไทย