ทำเนียบฯ 20 เม.ย.-บอร์ดสุขภาพจิตแห่งชาติ ดันแผนพัฒนาสุขภาพจิต เป็นแผนระดับชาติ 20 ปี ฉบับแรกของประเทศ เริ่มจากทุกกระทรวงขานรับนโยบายการดูแลผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนในกทม./เมืองใหญ่ภายใน 3 เดือน
พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ ครั้งที่1/2561โดยมี น.พ.กิตติศักดิ์ กลับดี ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ชิโนรส ลี้สวัสดิ์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรมสุขภาพจิตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ที่ทำเนียบรัฐบาล
พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่าการขับเคลื่อนการบังคับใช้ พ.ร.บ.)สุขภาพจิต พ.ศ.2551 มีความก้าวหน้าตามลำดับ มุ่งเน้นการคุ้มครองสิทธิของผู้มีความผิดปกติทางจิตให้ได้รับการบำบัดรักษาตามมาตรฐานทางการแพทย์ ซึ่งขณะนี้ขยายผลถึงระดับจังหวัดทั่วประเทศ จากการติดตามผลดำเนินงานในรอบ1ปี พบปัญหาสำคัญที่ต้องอาศัยการดำเนินการแก้ไข โดยกลไกของคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติเพื่อให้เกิดความร่วมมือของหลายกระทรวง คือปัญหาผู้ป่วยสุขภาพจิตเร่ร่อน ที่จำเป็นต้องมีการดำเนินการเชิงรุกเพื่อให้ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม ไม่ให้เกิดอันตรายต่อตนเองและสังคม มติที่ประชุมวันนี้จึงกำหนดให้มีเป้าหมายเร่งด่วนในการดูแลผู้ป่วยสุขภาพจิตเร่ร่อนในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ทุกภาค โดยให้กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการร่วมกันให้ได้ตามเป้าหมาย และรายงานผลต่อคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติใน 3 เดือนข้างหน้า
สำหรับการดำเนินงานตามพ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ. 2551 ขณะนี้ดำเนินการ 2 เรื่องใหญ่ ประการแรก คือการจัดทำแผนพัฒนาสุขภาพจิตแห่งชาติฉบับที่1พ.ศ. 2560-2579 เป็นแผน 20 ปี สอดรับกับแผนพัฒนาประชากรขององค์การสหประชาชาติและยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 เพื่อให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐเอกชนใช้เป็นกรอบปฎิบัติอย่างบูรณาการทิศทางเดียวกันอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อพัฒนาและขับเคลื่อนงานสุขภาพจิตและจิตเวชให้มีประสิทธิภาพ ลดปัจจัยเสี่ยง เพิ่มปัจจัยคุ้มครองด้านสุขภาพจิต ส่งเสริมให้ประชาชนมีความตระหนักและความเข้าใจต่อปัญหาสุขภาพจิต รวมทั้งสร้างความเข้มแข็งของภาคีเครือข่าย ในการลดอคติต่อผู้มีปัญหาสุขภาพจิต ประการที่ 2 คือการปรับแก้พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ. 2551 ซึ่งใช้มานาน 10 ปี ให้ทันสมัยยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ แผนพัฒนาสุขภาพจิตแห่งชาติฉบับที่ 1 พ.ศ. 2560-2579 มีวิสัยทัศน์คือคนไทยมีปัญญา อารมณ์ดี และมีความสุข อยู่ในสังคมอย่างทรงคุณค่าประกอบด้วย 6เป้าหมายหลัก ได้แก่
1. เพิ่มไอคิวหรือความฉลาดทางสติปัญญาเด็กไทยจาก 98.23 ในปี 2559 ให้มากกว่าหรือเท่ากับ 105 ในปี 2579
2. เด็กไทยมีอีคิวหรือความฉลาดทางอารมณ์ในระดับปกติ จากปี 2559 ร้อยละ 77 ให้ได้มากกว่าร้อยละ 85 ในปี 2579
3. สร้างครอบครัวเข้มแข็งและอบอุ่น จากปี 2559 ร้อยละ 67.98 ตั้งเป้าหมายให้ได้ร้อยละ 95 ในปี 2579
4. ประเทศไทย ในปี 2559 มีคะแนนความสุขที่ 6.424 คะแนน อยู่ในอันดับ 32 ของโลก จากทั้งหมด 155 ประเทศ โดยวางเป้าหมายให้มีคะแนนความสุขเท่ากับหรือเพิ่มขึ้น 0.4 ในปี 2579
5. ลดอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จจาก 6.35 ต่อแสนประชากร ในปี 2559 ให้ไม่เกิน 5.1 ต่อแสนประชากร ในปี 2579
6. ร้อยละของอำเภอที่บูรณาการการดำเนงานสุขภาพจิตตามมาตรฐานแล้วส่งผลให้ประชาชนมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตดี ซึ่งเริ่มตั้งแต่พ.ศ. 2560 ตั้งเป้าร้อยละ 50 ให้เพิ่มเป็นร้อยละ 65 ในปี 2579 โดยมี 4 กลยุทธ์หลักดำเนินงาน
ขณะนี้ได้เสนอแผนดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) คาดว่ารู้ผลเรื่องการนำเสนอต่อที่ประชุมครม.ประมาณเดือนมิถุนายน 2561 นี้ มติที่ประชุมได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการจัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์สุขภาพจิตแห่งชาติ จัดทำแผนปฏิบัติการ (action plan) ซึ่งเป็นแผนบูรณาการของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนรวมไม่ต่ำกว่า 10 หน่วยงาน เพื่อให้สามารถลงมือปฏิบัติงานได้ทันทีหากแผนพัฒนาสุขภาพจิตแห่งชาติฉบับที่ 1 นี้ได้รับการเห็นชอบแล้ว .-สำนักข่าวไทย