สตูล 19 เม.ย.-หลังจาก ครม.มีมติยื่นเรื่องเสนอไปยังยูเนสโก ให้พิจารณารับรองอุทยานธรณีสตูลเป็นอุทยานธรณีโลก ตั้งแต่ปลายปี 2559 ล่าสุด เมื่อวันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมา ยูเนสโกได้ประกาศรับรองให้อุทยานธรณีสตูล หรือสตูล จีโอปาร์ค เป็นอุทยานธรณีโลกแล้ว ซึ่งจะมีสถานะเทียบได้กับการเป็นมรดกโลก สร้างความดีใจให้คนในพื้นที่
ฟอสซิลฟันกรามช้างสเตโกดอน ช้างยุคก่อนช้างแมมมอธ อายุกว่า 1.8 ล้านปี ที่ถูกค้นพบภายในถ้ำวังกล้วย หรือปัจจุบันเรียกถ้ำเลสเตโกดอน ใน อ ทุ่งหว้า จ.สตูล เมื่อปี 2551 เป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาธรณีวิทยาในพื้นที่ จ.สตูล อย่างจริงจัง ก่อนที่จะพบว่าพื้นที่แห่งนี้เดิมเป็นผืนดินใต้ท้องทะเลที่มีการยกตัวขึ้น ก่อนจะมีการชนกันของแผ่นเปลือกโลก เมื่อราว 540-250 ล้านปีก่อน หรือในมหายุคพาลีโอโซอิก
เกิดเป็นสภาพภูมิประเทศที่มีความหลากหลาย สวยงามโดดเด่น นับตั้งแต่เทือกเขาหินปูนไปจนถึงท้องทะเล มีการค้นพบทางธรณีวิทยามากมาย โดยเฉพาะซากดึกดำบรรพ์ หรือฟอสซิล ซึ่งมีเพียงไม่กี่แห่งในโลก หรืออาจเป็นเพียงแห่งเดียวที่พบฟอสซิลครบทั้ง 6 ยุคของยุคพาลีโอโซอิก จนได้รับการกล่าวขานว่า สตูลเป็นดินแดนแห่งฟอสซิล เป็นที่มาของการก่อตั้งอุทธยานธรณีสตูล หรือ Satun Geopark ในปี 2557 และการประกาศให้เป็นอุทยานธรณีระดับประเทศในปี 2559 จนล่าสุดได้รับการประกาศจากองค์การยูเนสโกให้เป็นอุทยานธรณีโลก เมื่อวันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมา
อุทยานธรณีสตูลมีพื้นที่กว่า 2,597 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 4 อำเภอ ประกอบด้วย ทุ่งหว้า มะนัง ละงู และ อ.เมือง ซึ่งพบแหล่งที่มีคุณค่าทางธรณีวิทยากว่า 30 แห่ง เป็นแหล่งท่องเที่ยวทั้งทางบก อาทิ ถ้ำ น้ำตก ป่าเขา ธารล่องแก่ง และแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล อาทิ เกาะตะรุเตา เกาะไข่ ถ้ำภูผาเพชร ถ้ำที่มีขนาดใหญ่ลำดับต้นๆ ของโลก ถ้ำเลสเตโกดอน น้ำตกวังสายทอง ที่นอกจากจะมีความสวยงามทางธรณีวิทยา ยังแฝงไปด้วยคุณค่าทางโบราณคดี นิเวศวิทยา และวัฒนธรรม ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้มีการพัฒนาเส้นทาง ที่พัก และปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์ หวงแหนทรัพยากร ให้คนในพื้นที่ เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ยั่งยืน
อุทยานธรณีสตูล นับเป็นอุทธยานธรณีโลกแห่งเดียวของไทย เป็นบันทึกหลักฐานใต้ท้องทะเล 500 ปีก่อน 1ใน 5 ของอุทายานธรณีโลกในภูมิภาคอาเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งทั้งโลกมีเพียง 140 แห่ง ใน 38 ประเทศเท่านั้น.-สำนักข่าวไทย