รร.เอเชีย 4 เม.ย.-มูลนิธิหญิงชาย-ซินดี้ นางแบบดัง ปลุกกระแสเรียกร้องสิทธิให้ผู้หญิงไม่ถูกลวนลามช่วงเทศกาลสงกรานต์ ชี้ฉวยโอกาส ลวนลาม คุกคามทางเพศ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับชุดที่ใส่ และการแต่งตัวเป็นสิทธิส่วนบุคคลไม่ควรละเมิด
มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล จัดเสวนา “ลวนลาม คุกคามทางเพศ…ขึ้นอยู่กับชุดที่ใส่จริงเหรอ?” ภายในงานมีการจัดแสดงนิทรรศการ“ชุดที่ใส่…ในวันที่ถูกลวนลาม คุกคามทางเพศ”
น.ส.สิรินยา บิชอพ หรือซินดี้ นางแบบนักแสดงและพิธีกรชื่อดัง กล่าวว่า หลายฝ่ายรณรงค์ให้ผู้หญิงแต่งกายมิดชิด เพื่อลดปัญหาการถูกคุกคามลวนลามทางเพศช่วงสงกรานต์ อยากอธิบายว่าตนก็เคยตกเป็นเหยื่อ ถูกลวนลามในช่วงสงกรานต์ทั้งที่แต่งตัวมิดชิด จริงๆแล้วการแต่งตัวของผู้หญิงไม่ใช่ว่าผู้ชายจะทำอะไรก็ได้ การแต่งกายมันไม่เกี่ยว ไม่ยุติธรรม เหมือนเป็นการตอกย้ำในทางที่ผิด และแก้ปัญหาผิดจุด ตราบใดที่ไม่ได้อนาจาร ไม่ผิดกฎหมาย ผู้หญิงมีสิทธิที่จะแต่งตัวแบบไหนก็ได้ ซึ่งเราควรยกข้ออื่นๆ มาพูด เช่น ควบคุมพฤติกรรมของผู้ชาย เจ้าหน้าที่เข้มงวด มีบทลงโทษที่ชัดเจน ควรงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในเมื่อผู้ชายอ้างว่าการดื่มเหล้าเบียร์เป็นสิทธิที่ทำได้ไม่ผิด แต่การแต่งกายของผู้หญิงเป็นเรื่องที่ผิดอย่างนั้นหรือ
“สงกรานต์เป็นวันที่ผู้ชายบางส่วนรอคอยเพราะรู้ว่าเป็นวันที่จะทำแบบนี้ได้ คำว่าเล่นน้ำกันอย่าคิดมาก มือเผลอไปโดน คนเยอะแออัด แต่ขอโทษนะคะ ผู้หญิงไม่ได้โง่ การรณรงค์แต่งกายมิดชิดจึงไม่ใช่ทางออก สิ่งที่ผู้ชายพยายามจะบอกพวกเราคือ ต้องแต่งตัวแบบนี้ แบบกุลสตรี รักนวลสงวนตัวถ้าแต่งตัวมิดชิดคุณจะไม่โดนลวนลามแต่จากข้อมูลมีหลายเคส มากว่า แม้ไม่ได้แต่งกายเซ็กซี่ก็ยังโดน ดังนั้นจะเอาข้ออ้างนี้มาใช้ไม่ได้” น.ส.สิรินยา กล่าว
นอกจากนี้กล่าวด้วยว่า ประเพณีสงกรานต์เป็นประเพณีที่น่ารักสนุกสนาน นักท่องเที่ยวทั่วโลกมาเล่นน้ำที่เมืองไทย อยากให้ร่วมกันรักษาประเพณีนี้เอาไว้ อย่าเกินเลย หยุดฉวยโอกาส หยุดสร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่นและการออกมารณรงค์ติดแฮชแท็ก #donttellmehowtodress #tellmentorespect เพื่อต้องการเรียกร้องสิทธิให้ผู้หญิงไม่ถูกลวนลามหรือข่มขืนช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ ขณะเดียวกันยังมีดารานักแสดงหลายคนเห็นด้วยที่ผู้หญิงจะแต่งตัวแบบไหนก็ได้เพราะเป็นสิทธิส่วนบุคคล และร่วมด้วยช่วยกันแชร์แคมเปญนี้เป็นจำนวนมาก เช่น ‘โอปอล์’ ปาณิสรา,แอน ทองประสม,ซอนย่า คลูลิ่ง,ลูกเกด เมทินี,แพนเค้ก เขมนิจ เป็นต้น
ด้าน น.ส.บี (นามสมมติ) ผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกลวนลาม คุกคามทางเพศช่วงเทศกาลสงกรานต์ กล่าวว่า เมื่อปีที่แล้วได้ไปเล่นน้ำสงกรานต์ในพื้นที่ชื่อดังของ กทม.ตอนนั้นไปกับเพื่อน5-6คน ถูกกลุ่มคนเมาคุกคามทางเพศ จับแก้ม กระชากแขนและจับหน้าอกพยายามฉวยโอกาสทุกอย่าง จึงรีบอาศัยช่วงชุลมุนหนีออกมา วันเดียวกันเพื่อนในกลุ่มถูกกระทำอนาจารด้วยการจูบปาก ตอนนั้นไม่มีใครกล้าช่วยเพราะกลัวถูกทำร้าย สุดท้ายต้องรีบหนีออกจากพื้นที่เพราะรู้ว่าไม่ปลอดภัยแล้ว
นอกจากนี้ เหตุการณ์ครั้งที่สอง เคยถูกลากไปรุมประแป้ง พยายามหอมแก้ม ยื่นเบียร์ให้ดื่ม ถูกคุกคามด้วยวาจาสารพัด และพอเจอเหตุการณ์แบบนี้ไม่กล้าไปเล่นน้ำอีกเลย รู้สึกอาย กลัว อยากฝากว่า ควรเล่นน้ำด้วยความสร้างสรรค์ ไม่ฉวยโอกาส ให้เกียรติผู้หญิง และควรเป็นสงกรานต์ที่ปลอดภัยปลอดเหล้า ไม่ใช่เต็มไปด้วยคนเมาขาดสติ
ขณะที่ น.ส.จรีย์ ศรีสวัสดิ์ หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมภาคีเครือข่าย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า มูลนิธิฯ ได้เก็บข้อมูลสำรวจความคิดเห็นผู้หญิงไทยต่อเทศกาลสงกรานต์ปี 2560 ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยสำรวจกลุ่มตัวอย่างผู้หญิง1,650ราย อายุระหว่าง10-40ปี พบว่า กลุ่มตัวอย่างเกินครึ่งหรือ ร้อยละ59.3 เคยถูกฉวยโอกาส ถูกลวนลามคุกคามทางเพศ โดยรูปแบบพฤติกรรมการถูกลวนลาม คือ ถูกจับแก้ม ร้อยละ33.8 เบียดเสียด/จับมือ/จับแขน และใช้สายตาจ้องมองแทะโลมทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัย จำนวนเท่ากัน คือ ร้อยละ18.0 ถูกแซว/ล้อเลียนส่อไปในเรื่องเพศ ร้อยละ 12.3 ถูกสัมผัสร่างกาย/ล้วงอวัยวะอื่นๆที่เกินเลย ร้อยละ9.6 และที่สำคัญเมื่อถูกลวนลามคุกคามทางเพศ มีเพียง1ใน4เท่านั้นที่เลือกจะแจ้งความดำเนินคดีสำหรับกลุ่มตัวอย่างที่ไม่เล่นสงกรานต์ให้เหตุผลว่า เพราะเคยถูกแต๊ะอั๋งจึงไม่อยากเล่นสงกรานต์/กลัวถูกฉวยโอกาสลวนลาม ร้อยละ28.10
“ปัญหาการลวนลามคุกคามทางเพศสะท้อนชัดเจนเกี่ยวกับความไม่เท่าเทียมทางเพศ สังคมไทยขาดการปลูกฝังให้ผู้ชายยับยั้งช่างใจ โดยทั่วไปทั้งระดับครอบครัว สื่อมวลชน ระบบการศึกษา ไม่ได้มีการออกแบบเพื่อควบคุมการแสดงออกทางเพศของผู้ชาย แต่มีข้อห้ามมากมายสำหรับผู้หญิง ยิ่งช่วงเทศกาลสงกรานต์ยิ่งตอกย้ำทำให้การลวนลามทางเพศสามารถทำได้ โดยเริ่มจากการประแป้ง การใช้สายตา การพูดแซว แล้วค่อยๆเพิ่มความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ไปจนถึงการล่วงละเมิดทางเพศ หากยังไม่แก้ไขค่านิยมแบบนี้ ปัญหาจะยิ่งลุกลามเพราะสาเหตุไม่ได้มาจากการแต่งกายของผู้ถูกกระทำ ดังนั้นสิ่งสำคัญต้องเปลี่ยนวิธีคิดให้เคารพสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของคนทุกเพศทุกวัย หน่วยงานต่างๆ ที่รณรงค์เรื่องสงกรานต์ควรเลิกใช้วาทกรรมการแต่งตัวไม่เหมาะสม เพื่อแก้ไขปัญหาการคุกคามทางเพศได้แล้ว เราไม่ได้ออกมาบอกให้คนแต่งกายยั่วยุ แต่กำลังเรียกร้องให้สังคมตั้งสติ แยกแยะ ที่สำคัญการแต่งกายนั้นมิได้เป็นใบอนุญาตให้คุณข่มขืน ลวนลาม หรือคุกคามทางเพศใคร” น.ส.จรีย์ กล่าว .-สำนักข่าวไทย