สธ.4 เม.ย.-ก.สาธารณสุข เตรียมความพร้อมความปลอดภัยทางถนน รับอุบัติเหตุเทศกาลสงกรานต์ 11-17 เม.ย.นี้ ระดมแพทย์พยาบาลประจำสถานพยาบาล ตั้งด่านตรวจในพื้นที่เสี่ยง 198 อำเภอ และใน กทม. ด้าน ปภ.เดินหน้า ประชาสัมพันธ์ เมาแล้วขับประกันไม่จ่าย โดยปีใหม่ 2561 ไม่จ่ายเงินกับผู้ประกันภัยที่เมาแล้วขับ วงเงิน 14 ล้านบาท
นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ ทาง สธ.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) จะได้ร่วมกับรณรงค์ความปลอดภัยทางท้องถนน และดำเนินการเอาจริงในการสร้างวินัยจราจรเพื่อเมาแล้วขับเพื่อลดอุบัติเหตุบนท้องถนน ลดการเสียชีวิตและพิการ โดยจะมีการระดมทีมแพทย์พยาบาล 165,158 คน ประจำช่วงวันหยุดยาวเทศกาลปีใหม่ เพื่อให้บริการ การแพทย์ฉุกเฉินทุกกระดับ 14,492 หน่วย และมีทีมศัลยแพทย์ประจำ 1,500 คน
ขณะเดียวกันก็จะมีการกระจายตรวจจับวัดระดับแอลกอฮอล์ในพื้นที่เสี่ยงตามอำเภอต่างๆในต่างจังหวัด 198 อำเภอและบวก 1 ในพื้นที่ของ กทม. โดยเน้นการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2551 ทั้งการห้ามขายสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทางเท้า ,ห้ามดื่นบนรถในขณะขับขี่หรือโดยสาร ,ห้ามขายนอกเวลาที่กฎหมายกำหนด ,ห้ามขายให้กับบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20ปี ซึ่งในช่วงเทศกาลสงรานต์ปี 2560 มีผู้บาดเจ็บนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล 4,141 ราย มีผู้เสียชีวิต 440 ราย และมีผู้เสียชีวิตมากที่สุด 13 เมษายน
ด้าน นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์การขับขี่บนท้องถนนต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 6-8 ชั่วโมง เพื่อลดความเหนื่อยล้าในการขับขี่ ควรเตรียมผ้าเย็นชุบน้ำ เช็ดหน้าเวลาง่วง สวมแว่นตากันแดด ป้องกันสายตาเหนื่อยล้า เลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง หรือแป้ง เพื่อป้องกันการง่วงซึม เฉื่อยช้า รับประทานเครื่องดื่มที่มีรสเปรี้ยวเพิ่มความสดชื่นให้กับร่างกาย และขยับร่างกายเพื่อบรรเทาความง่วง
ขณะที่นายจุมพฎ วรรณฉัตรศิริ ผู้อำนวยการกองบูรณาการความปลอดภัยทางถนน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า หลังจากมีการบังคับกฎหมาย ควบคุมระดับปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดห้ามเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซนต์ ในผู้ขับขี่หากเกิดอุบัติเหตุ ทางประกันภัย จะไม่มีการจ่ายเงินช่วยเหลืออย่างเด็ดขาด ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2561 สามารถดำเนินการตามกฎหมาย และไม่ได้มีการจ่ายเงินสินไหมรวม 14 ล้านบาท ซึ่งในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ จะยิ่งเข้มข้นมาตรการดังกล่าวมากขึ้นไปอีก หากพบว่า มีผู้ขับขี่แล้วเกิดอุบัติเหตุ ผลการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินค่ามาตรฐาน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซนต์ ทางบริษัทจะไม่มีการจ่ายเงินชดเชย ช่วยเหลือทั้งกับเจ้าของรถผู้เกิดอุบัติเหตุ และคู่กรณี โดยผู้ขับขี่ที่เมาแล้วขับจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบกรณีเกิดอุบัติเหตุทั้งหมด .-สำนักข่าวไทย