พรรคประชาธิปันย์ 2 ต.ค.-“องอาจ” เรียกร้องทุกฝ่ายเคารพคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เร็วเกินไปที่ชี้เพื่อปูทางนายกฯ คนนอก
นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ยังมีบางฝ่ายไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ว่า ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายเคารพในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้วินิจฉัยเพื่อให้เกิดผลอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่น่าจะวินิจฉัยไปตามเนื้อหามากกว่าเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติบ้านเมือง
ส่วนที่หลายฝ่ายมองว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะทำให้มีนายกรัฐมนตรีคนนอกนั้น รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ยังเร็วเกินไปที่จะด่วนสรุป เพราะวันนี้รัฐธรรมนูญยังไม่ประกาศใช้ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคการเมือง และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง ก็ยังไม่มี ยังไม่รู้ว่าหลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผลการเลือกตั้งจะออกมาอย่างไร การด่วนสรุปว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะทำให้ไม่ได้นายกรัฐมนตรีจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง แต่จะได้จากคนนอกนั้นจึงเร็วเกินไป
นายองอาจ กล่าวว่า แม้รัฐธรรมนูญจะบัญญัติให้มีสมาชิกวุฒิสภาจากการแต่งตั้ง ขั้นตอนสุดท้าย โดย คสช. ถึง 250 คนโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ เพียงหาจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จากสภาผู้แทนราษฎร อีกเพียง 126 คน ก็จะทำให้ได้เสียงเกินครึ่งของสมาชิกรัฐสภา สามารถมีนายกรัฐมนตรีจัดตั้งรัฐบาลได้แต่การที่รัฐบาลจะบริหารงานได้ราบรื่น ควรมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สนับสนุนเกิน 250 คนน่าจะปลอดภัยกว่า เพราะการบริหารงานของรัฐบาลที่ราบรื่นควรมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร คือเกิน 250 คน ก็จะช่วยให้รัฐบาลสามารถผ่านกฎหมายได้ ผ่านงบประมาณได้ ผ่านอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ เนื่องจากเวลารัฐบาลบริหารงานไม่มีเสียงของ ส.ว. 250 คน มายกมือสนับสนุนด้วยเป็นเรื่องของรัฐบาล กับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะทำงานบริหารประเทศ
“เพราะฉะนั้นการมี ส.ว. สนับสนุนนายกรัฐมนตรีคนนอกถึง 250 คนก็ยังไม่เพียงพอต้องได้เสียงสนับสนุนจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเกิน 250 คน ด้วยถึงจะช่วยทำให้นายกรัฐมนตรีทำงานได้ จึงยังไม่มีอะไรแน่นอนขณะนี้ว่านายกรัฐมนตรีหลังจากการเลือกตั้งจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนนอก หรือ นายกรัฐมนตรีจากบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง” นายองอาจ กล่าว
นายองอาจ กล่าวต่อไปว่า ส่วนกรณีที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้ความเห็นว่าถ้าเลือกนายกรัฐมนตรีไม่ได้ อาจใช้ มาตรา 44 สั่งให้ยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่เป็นการขู่นั้น ตนไม่มองว่าเป็นการขู่แต่อย่างใด นายวิษณุ คงชี้ให้เห็นถึงขั้นตอนของกฎหมาย และอำนาจที่รัฐบาล คสช. มีอยู่ คือ มาตรา 44 ที่ยังสามารถใช้ได้ตราบเท่าที่ยังไม่มีรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้ง แต่รัฐบาล และ คสช. ก็ต้องพิจารณาด้วยว่าเหมาะสมหรือไม่ ที่จะทำเช่นนั้น อย่างไรก็ดีการหานายกรัฐมนตรีไม่ได้หลังการเลือกตั้งคงไม่เกิดขึ้นง่าย ๆ จึงไม่ควรไปวิตกกังวลล่วงหน้าจะดีกว่า.-สำนักข่าวไทย