กรุงเทพฯ 2 เม.ย.- นักวิชาการจี้ รัฐบาลยกเลิกลดหย่อนภาษี ค่าซื้อ LTF ชี้เป็นประโยชน์กับกลุ่มผู้มีรายได้สูง แต่ยังให้คงสิทธิสำหรับ RMF ต่อไป
ในการเสวนาติดตามสภาวะเศรษฐกิจไทยครั้งที่ 13 หัวข้อเรื่อง “อัดฉีด เก็บภาษีช่วยใคร” จัดโดยคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) นางสาวดวงมณี เลาวกุล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แนะให้รัฐบาล ยกเลิกมาตรการลดหย่อนภาษี ค่าซื้อหน่วยลงทุน ในกองทุนรวมหุ้นระยะยาวหรือ LTF ซึ่งจะทำให้รัฐ มีรายได้เพิ่มขึ้น เช่น ในปี 2555 ไม่มีการลดหน่อยภาษีค่าซื้อหน่วยลงทุน LTF รัฐบาลจะมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นถึง 8,848.20 ล้านบาท และในกรณีไม่ลดหย่อนภาษีนี้ จากจำนวนแบบยื่นเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทั้งหมดที่ใช้สิทธิลดหย่อน จำนวน 284,374 แบบ มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 2.92 ของจำนวนแบบยื่นเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทั้งหมด จะมีภาระภาษีเพิ่มขึ้นเฉลี่ยต่อแบบอยู่ที่แบบละ 31,115 บาท และหากพิจารณาตามขั้นเงินได้สุทธิ ผลการยกเลิกมาตรการลดหน่อยภาษีค่าซื้อหน่วยลงทุน LTF ทำให้ผู้ยื่นแบบเสียภาษีในขั้นเงินได้สูง มีภาระภาษีเฉลี่ยต่อแบบเพิ่มขึ้นมากกว่าผู้ที่อยู่ในขั้นเงินได้ต่ำ เนื่องจากการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของไทยเป็นอัตราภาษีแบบอัตราก้าวหน้า
สาเหตุที่เสนอแนะให้ยกเลิกมาตรการลดหย่อนภาษี ค่าซื้อหน่วยลงทุน LTF เนื่องจากกลุ่มที่ได้ประโยชน์คือ กลุ่มที่มีรายได้สูงไม่ได้เป็นประโยชน์กับกลุ่มที่มีรายได้น้อย ประกอบกับตลาดทุนในปัจจุบันมีวิวัฒนาการและการพัฒนาไปมากแล้ว สามารถดำรงอยู่ได้หากไม่มีการลดหย่อนภาษีค่าซื้อหน่วยลงทุน LTF ซึ่งรัฐบาลสามารถนำรายได้จำนวนนี้ไปจัดบริการสาธารณะที่เป็นประโยชน์ต่อคนที่ด้อยโอกาสและยากจนได้อีกเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังช่วยให้การกระจายรายได้ดีขึ้นด้วย
ส่วนการลดหย่อนภาษีการซื้อกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพหรือ RMF แม้ว่า กลุ่มที่ได้ประโยชน์จะเป็นกลุ่มรายได้สูงมากกว่ากลุ่มได้น้อย แต่นับได้ว่าเป็นการออมในระยะยาวเพื่อการสร้างโครงข่ายความคุ้มครองทางสังคมในอนาคต ดังนั้นรัฐบาลยังสามารถคงมาตรการลดหย่อนนี้ไว้ได้
ส่วนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเริ่มจัดเก็บในปีหน้า เห็นว่า ไม่ควรมีการยกเว้นหรือลดหย่อนจำนวนมากเพราะจะเกิดช่องโหว่ของกฎหมายขึ้น แต่ควรเก็บภาษีในอัตราต่ำ ๆ สำหรับฐานภาษีที่มีมูลค่าน้อยเพื่อไม่ให้เกิดภาระภาษีที่มากจนเกินไป หากจะยกเว้นให้กับบ้านหลังหลักสำหรับผู้ที่มีกำลังในการจ่ายภาษีได้น้อย ก็ควรอยู่ที่ไม่เกิน 5 ล้านบาทเพราะเป็นมูลค่าที่อยู่อาศัยที่คนส่วนใหญ่ของประเทศเป็นเจ้าของและไม่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำกับผู้ที่มีบ้านมากกว่า 1 หลัง แต่ต้องเสียภาษีสำหรับบ้านหลังถัดไป
การยกเว้นภาษีสำหรับที่ดินที่ใช้ในการทำการเกษตรก็ควรเป็นการดูแลเกษตรกรรายย่อยซึ่งมีกำลังในการจ่ายภาษีต่ำ การยกเว้นให้เก็บภาษีที่ดินเกษตรหรือยกเว้นในมูลค่าที่สูงเกินไปยังเป็นการสร้างแรงจูงใจให้คนที่ถือครองที่ดินจำนวนมากที่เป็นที่รกร้างว่างเปล่า หลีกเลี่ยงภาษีมาสู่ช่องทางนี้ ฉะนั้น การยกเว้นภาษีในมูลค่าสูงจะไม่ได้แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและยิ่งเป็นการซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่แล้วให้ชัดเจนมากขึ้น
นางสาวดวงมณี ยังแนะนำให้รัฐบาลขยายฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กว้างและคลอบคลุมมากขึ้น และมีมาตรการที่จะทำให้ผู้มีเงินได้เข้ามาในระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มขึ้น เงินได้ที่มีการหักภาษี ณ ที่จ่ายทุกประเภท ควรจะนำมารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพื่อให้เกิดการเก็บภาษีที่มีความเป็นธรรมกับเงินได้ทุกประเภท ทั้งนี้ ควรมีการศึกษาถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นด้วย และการหักค่าใช้จ่าย มีการักค่าใช้จ่ายที่หลากหลายสำหรับเงินได้แต่ละประเภท ความมีอัตราการหักค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมและมีมาตรฐานของเงินได้แต่ละประเภท และมุ่งไปสู่แนวทางการหักค่าใช้จ่ายที่มีหลักฐานแสดงค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง ด้านการลดหย่อนภาษี รัฐสามารถยกเลิกมาตรการลดหน่อนภาษีค่าซื้อหน่วยลงทุน LTF
นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ปัจจุบัน ระบบภาษีไทยยังไม่ได้ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ โดยคนรวยจำนวนมากมีรายได้สูงมากเสียภาษีในอัตราไม่ถึงร้อยละ 35 เพราะกฎหมายอนุญาติให้แยกคำนวณเสียภาษีได้ และคนรวยยังมีรายได้จากเงินปันผลมาก โดยบางคนได้รับปีละกว่า 1,000 ล้านบาท แต่เสียภาษีคำนวณจากการแยกคิดภาษีจึงเสียภาษีในอัตราเพียงร้อยละ 15 เท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีคนบางส่วนยังไม่อยู่ในระบบภาษีและเป็นคนรวยก็มาก และนอกจากนี้ มาตรการยกเว้นภาษีของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ก็ยังช่วยให้คนรวยเสียภาษีน้อยลง ด้านภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บในอัตราร้อยละ 7 แม้เป็นอ้ตราค่อนข้างต่ำ แต่เป็นภาษีที่เป็นภาระสำหรับคนจนที่ต้องจ่ายทุกครั้งที่ซื้อสินค้าและบริการ ดังนั้น รัฐบาลควรจะมีมาตรการที่เป็นแพ็คเก็จ ที่ทำให้คนรวยเสียภาษีเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ภาพใหญ่ของภาษีไทยคือ การไม่เก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง-สำนักข่าวไทย