เชียงใหม่ 2 เม.ย.-ชาวบ้านในหมู่บ้านบนดอยสูงแห่งหนึ่งที่เชียงใหม่ ปลูกชาทำเมี่ยง ซึ่งเป็นอาหารพื้นบ้านมานับร้อยปี แต่เมื่อความนิยมการกินเมี่ยงลดลง ชาวบ้านรายได้น้อยลงความเป็นอยู่ยากลำบากขึ้น จนมีโครงการพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ส่งเสริมให้ชาวบ้านหันมาทำไร่ชาคุณภาพ ช่วยพลิกฟื้นชีวิตให้ชาวบ้านที่นั่นให้มีชีวิตที่ดีขึ้น ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไทย พาไปเยี่ยมชมไร่ชาจากพระกรุณาธิคุณของพระองค์
ปางมะโอ หมู่บ้านเล็กๆ กลางป่า บนดอยสูง ใน ต.แม่นะ อ.เชียงดาว ที่เชียงใหม่ ยังมีบางครอบครัว ที่เก็บใบเมี่ยงหรือใบชาอัสสัม ที่ปลูกกันมาหลายชั่วอายุคน นำมานึ่งและหมัก เป็นเมี่ยงอาหารพื้นบ้านทางภาคเหนือ ส่งขาย แต่กลายเป็นเพียงรายได้เสริมและอนุรักษ์การทำเมี่ยงพื้นบ้านไว้เท่านั้น
ด้วยพื้นที่อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลกว่า 1,000 เมตร ชาวบ้านที่นี่จึงปลูกชาพื้นเมืองกันมานับร้อยปี รวมพื้นที่กว่า 1,000 ไร่ เก็บใบชามาทำเมี่ยงกันทั้งหมู่บ้าน แต่เมื่อความนิยมในการกินเมี่ยงลดลง ขายได้น้อยลง รายได้จากการทำเมี่ยงของชาวบ้านหายไป ความเป็นยู่ยากลำบากขึ้น
จนกระทั่งเมื่อ 9 ปีที่แล้ว ชีวิตของชาวบ้านเริ่มกลับมาดีขึ้น จากโครงการความร่วมมือในการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพการปลูกชาในพื้นที่โครงการตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี หลังจากพระองค์ท่านเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมชมสถานีชาต๊อกไล รัฐอัสสัมของอินเดีย และทรงเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านชาของที่นั่นมาให้คำแนะนำเจ้าหน้าที่และชาวบ้านในการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพการปลูกชา ทั้งที่ จ.น่าน และที่บ้านปางมะโอแห่งนี้ด้วย
จากการเก็บใบชาไปทำเมี่ยง ชาวบ้านเรียนรู้การแต่งกิ่ง การดูแลต้นชา การเก็บยอดชาสดส่งขาย โดยเจ้าหน้าที่หลายหน่วยงานบูรณาการเข้ามาช่วยแนะนำ และยังช่วยสนับสนุนเครื่องมือการแปรรูปใบชา ทั้งเครื่องคั่ว เครื่องอบ เครื่องนวด เพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใบชา ทั้งชาจีน ชาเขียว และชาขาว ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ของชุมชน สร้างรายได้ให้ชาวบ้านมากขึ้น
ทุกวันนี้ชาวบ้านปางมะโอต่างสำนึกในพระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงพลิกฟื้นชีวิตชาวบ้านให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นด้วยโครงการพระราชดำริ เช่นเดียวกับคนไทยอีกมากมายที่ต่างได้รับพระกรุณาธิคุณจากพระองค์ ที่ทรงงานหนัก ปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อพสกนิกรมาโดยตลอด.-สำนักข่าวไทย