“ซิโนไทย” ยืนยัน ไม่เคยใช้อิทธิพลขอขยายเวลาสร้างรัฐสภาใหม่

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ 31 มี.ค.- อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ตั้งข้อสังเกต บ.ซิโนไทยฯใช้อิทธิพลขยายเวลาก่อสร้างรัฐสภาใหม่ ขณะที่บ.ซิโนไทยฯ ยืนยัน สามารถดำเนินการได้ทันตามสัญญา หากสภาฯคืนพื้นที่ตามกำหนด ชี้ ไม่เคยใช้อิทธิพลขอขยายเวลา ย้ำไม่เกี่ยวข้องกับการติดตั้งระบบไอที


คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 และเครือข่ายตรวจสอบภาคประชาชน จัดเวทีประชาชนตรวจสอบคอร์รัปชั่น ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย หัวข้อ ตรวจสอบปัญหาการทุจริตประพฤติชอบ กรณีไอที-รัฐสภาแห่งใหม่  โดยมีนายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคประชาธิปัตย์ นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ในฐานะบุตรชายของผู้บริหารบริษัท ซิโนไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัทผู้รับจ้างก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ร่วมการเสวนา

โดยนายวัชระ เริ่มเปิดประเด็นเรื่องการขยายเวลาการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ว่า มีการขยายเวลาการก่อสร้างออกไป 1,482 วัน จากเดิมในสัญญากำหนดไว้เพียง 900 วัน รวมต้องใช้เวลาการก่อสร้างถึง 2,382 วัน  ซึ่งถือว่า บริษัทผู้รับเหมาเป็นบริษัทที่ได้รับความเมตตาจากรัฐมากที่สุด ที่ให้ขยายเวลาการก่อสร้างไปถึง 3 ปี จึงตั้งข้อสังเกตว่า การขยายเวลาครั้งแรกที่นายจเร พันธุ์เปรื่อง อดีตเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร อนุมัติการขยายเวลาไม่ครบตามจำนวนที่บริษัท ซิโนไทยฯ ขอมา ทำให้นายจเรถูกคำสั่ง ม.44 ย้ายไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แสดงให้เห็นว่า การก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทเอกชนหรือไม่ พร้อมตั้งคำถามว่า ในเมื่อบริษัทรับเหมาก่อสร้างทราบอยู่แล้วว่า ทางสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจะส่งมอบพื้นที่แต่ละส่วนไม่พร้อมกัน เหตุใดจึงไม่มีการวางแผนเพื่อรองรับเหตุการณ์เหล่านี้ และตั้งคำถามอีกว่า ทางบริษัทได้รับมอบพื้นที่ครบทั้งหมดในวันใด และแต่งเติม ห้องโถงชั้นล่างของอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ที่ออกแบบให้เป็นอาคารประหยัดพลังงานที่รับลมจากธรรมชาติ แต่มีการปรับแก้ไขแบบให้มีเครื่องปรับอากาศ ขณะเดียวกันเตรียมยื่นหนังสือเรียกร้องให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้าไปตรวจสอบการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ เพราะมีความมั่นใจว่าการก่อสร้างรัฐสภาใหม่มีความผิดปกติ โดยหลังการก่อสร้างแล้วเสร็จก็จะไปยื่นร้องให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบด้วย ซึ่งตนมีข้อมูลในเชิงลึกพอสมควร และจะนำเรื่องการทุจริตก่อสร้างอาคารรัฐสภาใหม่ ไปส่งฟ้องศาลอาญาคดีทุจริตประพฤติมิชอบด้วย


ขณะที่นายอนุทิน กล่าวว่า พ่อของตนได้ก่อตั้งบริษัท ซิโนไทยฯมานาน 50 กว่าปีแล้ว และการที่ต้องมาชี้แจงในวันนี้ เพราะมีการพาดพิงว่า บริษัทซิโนไทยฯ ใช้อิทธิพลในการรับว่าจ้างและการต่อสัญญามาด้วย โดยยืนยันว่า ทุกครั้งที่ขยายสัญญา เพราะมีเหตุจำเป็นที่เกิดจากความผิดพลาดในการส่งมอบพื้นที่ ไม่ใช่ความผิดของบริษัทซิโนไทยฯ และไม่เคยใช้อิทธิพลในการต่อสัญญา พร้อมยืนยันว่า การร่วมเสวนาในวันนี้ (31 มี.ค.) ไม่ได้มาในเรื่องของการเมืองใดๆทั้งสิ้น 

สำหรับการขยายเวลาการก่อสร้างตามที่นายวัชระตั้งข้อสังเกตนั้น นายอนุทิน ชี้แจงว่า สิ่งที่นายวัชระกล่าวหา ไม่มีความจริงทั้งสิ้น เป็นเพียงการคาดเดา อีกทั้งในช่วงการอนุมัติงบประมาณการก่อสร้าง เป็นช่วงที่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ไม่ใช่นายชัย ชิดชอบ แต่อย่างใด ส่วนกำหนดเวลาการก่อสร้าง 900 วัน ตามสัญญานั้น ทางบริษัทซิโนไทยฯไม่ได้เป็นผู้กำหนด และหากการส่งมอบพื้นที่เป็นไปตามกำหนด ทางบริษัทก็ต้องก่อสร้างให้เสร็จภายในเวลา 900 วันตามสัญญา ทั้งนี้ ผู้รับจ้างไม่ใช่เจ้าของพื้นที่ ไม่ใช่เจ้าของดิน ผู้รับจ้างเป็นผู้รอรับคำสั่ง บริษัทซิโนไทยฯไม่ได้รู้ล่วงหน้าได้ว่าจะส่งมอบพื้นที่ไม่ทันตามกำหนด รู้เพียงว่า หากส่งมอบพื้นที่เสร็จ บริษัทจะใช้เวลาก่อสร้าง 900 วัน แต่เมื่อการส่งมอบพื้นที่แล้วเสร็จเมื่อปี 2559 การก่อสร้างก็จะเสร็จในปี 2562 ตามสัญญา 900 วัน 

“ส่วนข้อกล่าวหาเรื่องการของบประมาณเพิ่มเติม เพื่อติดตั้งระบบไอทีของรัฐสภาแห่งใหม่ นั้น งานระบบไอที ไม่ได้อยู่ในขอบเขตหรือเนื้องานที่บริษัทซิโนไทยฯต้องรับผิดชอบ ไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆในการออกแบบ และเรื่องระบบงานไอทีก็ไม่เกี่ยวข้องกับการขอขยายเวลา ดังนั้น ที่กล่าวหาว่า การขยายเวลา ทำให้รัฐเกิดความเสียหายนั้น ขอชี้แจงว่า บริษัทไม่ได้ทำผิดอะไร และไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าเสียหายใดๆ จึงขออย่ากล่าวหาว่า บริษัททำให้รัฐเสียหาย” นายอนุทิน กล่าว


ด้านนายวิลาศ ระบุ ไม่เคยกล่าวอ้างบริษัทเอกชน เพราะเข้าใจการทำงานของบริษัทเอกชน แต่ส่วนตัวไม่เคยเห็นโครงการใดที่เละเท่าโครงการการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ โดยเฉพาะการขยายเวลาการก่อสร้างที่สังคมยังไม่ทราบว่า เป็นเพราะการส่งมอบพื้นที่ล่าช้า นอกจากนี้ ยังตั้งข้อสังเกตเรื่อง สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจ้าง บริษัทเมอร์ลิน โซลูชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เพื่อออกแบบระบบไอทีด้วยวิธีพิเศษ ไม่ได้จัดจ้างด้วยวิธีการประกวดราคา โดยอ้างว่า มีเวลาจำกัด ทั้งที่ส่วนตัวเห็นว่า ก่อนหน้านี้มีเวลามานานแล้ว เหตุใดจึงมาจ้างบริษัทดังกล่าวด้วยวิธีพิเศษในเวลานี้ และจากการชี้แจงของทีมสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรถึงงบประมาณการติดตั้งระบบไอทีที่เพิ่มขึ้นมาเมื่อวันพฤหัสบดี (29 มี.ค.)ที่ผ่านมา ก็ยังไม่ชัดเจนเรื่องเหตุผล ส่วนที่ตนเห็นว่า โครงการดังกล่าวมีการทุจริตเกิดขึ้น เนื่องจากข้าราชการที่มีความเกี่ยวข้องกับโครงการ มักจะมีความก้าวหน้ามากเป็นพิเศษ 

จากนั้น นายโชติจุฑา อาจสอน กรรมการบริหารที่ปรึกษาโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ชี้แจงเรื่องการขยายระยะเวลาการก่อสร้าง 3 ครั้งว่า ที่ผ่านมาได้มีการชี้แจงออกมาเป็นระยะ เป็นข้อมูลที่เปิดเผยอยู่แล้ว ทั้งนี้ การทำงานจะต้องมีการแก้ปัญหาและอุปสรรคมาตลอด ครั้งแรกที่มีการขอขยายเวลา เนื่องจากพบปัญหาการส่งมอบพื้นที่ล่าช้าและปัญหาการทิ้งดิน ซึ่งเป็นหน้าที่ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรที่จะส่งมอบพื้นที่และจัดหาสถานที่ทิ้งดินล่าช้า ส่วนการขยายเวลาครั้งที่สอง ก็มีปัญหาต่อเนื่องจากการขุดดินเพื่อสร้างห้องใต้ดิน เพราะหากนำดินออกไปจากพื้นที่ไม่ได้ ก็ไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างชั้นใต้ดินได้ ซึ่งใช้เวลานานมาก และผู้บริหารของสภาฯคนเก่าไม่กล้าตัดสินใจในการขายดินส่วนที่ขุดออกมา ขณะเดียวกัน เวลานั้นก็ยังมีพื้นที่บางส่วนที่ยังส่งมอบไม่เสร็จ ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญที่ต้องใช้ในการเคลื่อนย้ายชิ้นส่วนโครงเหล็กหลังคาห้องประชุม ส.ส.และห้องประชุม ส.ว.ด้วยการสไลด์ชิ้นส่วนผ่านพื้นที่ดังกล่าวเข้ามาในส่วนการก่อสร้างอาคาร พร้อมย้ำว่า การขยายเวลาทั้ง 3 ครั้งนั้น มีเหตุผลที่ชัดเจน สำหรับงบประมาณในส่วนของระบบไอทีนั้น ตั้งแต่ปี 2552 ได้ตั้งกรอบวงเงินงบประมาณในส่วนนี้ไว้ 3,200 ล้านบาท และเมื่อประกวดการออกแบบจนได้บริษัทออกแบบมาทำงาน กลับพบว่า การก่อสร้างทั้งหมดจะต้องใช้พื้นที่และงบประมาณเพิ่มขึ้น จึงได้แยกงานไอที สาธารณูปโภคและงานประกอบอาคารออกจากสัญญา เนื่องจากงบประมาณที่วางไว้ไม่พอ อีกทั้ง งบประมาณดังกล่าวถูกนำไปใช้ในส่วนอื่น ต่อมาพบว่า การออกแบบระบบไอทีของบริษัทเดิมยังไม่ทันสมัยเพียงพอ จึงต้องตั้งคณะกรรมการเพื่อมาศึกษาและใช้เวลาค่อนข้างนานในการศึกษา จากนั้นได้จัดจ้างบริษัทใหม่ที่ไม่ขัดต่อมติคณะรัฐมนตรี จนได้บริษัท เมอร์ลินฯเข้ามาดำเนินการออกแบบระบบไอที ซึ่งบริษัท เมอร์ลินฯ ได้ออกแบบระบบไอทีที่จำเป็นต้องใช้งบประมาณจำนวนมากขึ้นกว่าวงเงินเดิม จึงเป็นที่มาของการขออนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมจากคณะรัฐมนตรี 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเวทีการเสวนาวันนี้ (31 มี.ค.) ได้มีผู้ร่วมสังเกตการณ์เป็นจำนวนมาก อาทิ นายสรอรรถ กลิ่นประทุม ประธานที่ปรึกษาพรรคภูมิใจไทย ,นายพีระ นาควิมล ผู้อำนวยการการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ บริษัทชิโน-ไทยฯ และนายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย เป็นต้น  .- สำนักข่าวไทย     

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

มุกใหม่มิจฉาชีพ

มุกใหม่มิจฉาชีพ! ป่วนโทรแจ้ง ตร. เกิดเหตุร้ายที่บ้านเหยื่อ

อินฟลูฯ สาว สายทำอาหาร ถูกมิจฉาชีพอ้างเป็นตำรวจโทรหา แต่เธอไม่เชื่อ โดนท้าอีก 10 นาทีเจอกัน ปรากฏว่า มีตำรวจจาก 2 โรงพักบุกมาที่บ้านจริง

“วราวุธ” ระบุการแข่งขัน อบจ.-สุพรรณบุรี ไม่มีปัญหา

“วราวุธ” ระบุการแข่งขัน อบจ.-สุพรรณบุรี ไม่มีปัญหา บอกสนามใหญ่ ไม่เข้าไปก้าวก่ายสนามท้องถิ่น ซ้ายก็เพื่อน ขวาก็พวก

ครม.เคาะแจกเงินหมื่นเฟส 2 ผู้สูงอายุ 60 ปี

“จุลพันธ์” เผย ครม.เห็นชอบโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกลุ่มผู้สูงอายุ วงเงิน 4 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะดำเนินการทันก่อน 29 ม.ค.68 รวม 3 มาตรการ สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบ 1.4-1.5 แสนล้านบาท

ข่าวแนะนำ

มติกฤษฎีกา “กิตติรัตน์” คุณสมบัติไม่ผ่านนั่งประธานบอร์ด ธปท.

คณะกรรมการกฤษฎีกา 3 คณะ มีมติไม่ผ่านคุณสมบัติ “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” เป็นประธานบอร์ดธนาคารแห่งประเทศไทย

เครื่องบินโดยสาร อาเซอร์ไบจาน แอร์ไลน์ ตกในคาซัคสถาน

เครื่องบินโดยสารเอ็มบราเออร์ ของสายการบินอาเซอร์ไบจาน แอร์ไลน์ ที่บินจากอาเซอร์ไบจาน ไปยังประเทศรัสเซีย เกิดอุบัติเหตุตกที่บริเวณใกล้กับเมืองอัคเทา ในคาซัคสถาน โดยมีผู้โดยสาร 62 คน และลูกเรือ 5 คน บนเครื่อง เจ้าหน้าที่คาซัคสถานกล่าวว่า มีผู้รอดชีวิต 28 ราย