กรุงเทพฯ 28 มี.ค. – รมว.พลังงานเดินทางพบเครือข่ายคนเทพาฯ หน้า กฟผ. สำนักงานใหญ่ พร้อมลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกัน โดยกลุ่มเครือข่ายคนเทพาฯ จะยกเลิกการชุมนุมและเดินทางกลับวันพรุ่งนี้
นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เดินทางมาพบปะเครือข่ายคนเทพาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ณ ที่ชุมนุม บริเวณหน้า กฟผ. สำนักงานใหญ่ พร้อมลงนามบันทึกข้อตกลงระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กับผู้แทนเครือข่ายคนเทพาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน นำโดยนายหลี สาเมาะ ประธานเครือข่ายฯ ดร.พณวรรธน์ พงศ์ประยูร เลขาเครือข่ายฯ และนางสุวิมล รามันเศษ สมาชิกเครือข่ายฯ โดยมี นายธรรมยศ ศรีช่วย ปลัดกระทรวงพลังงาน และ นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการนโยบายและแผน ร่วมเป็นสักขีพยาน
นายศิริ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีเป็นห่วงสุขภาพและความเป็นอยู่ของพี่น้องชาวเทพาทุกคน เข้าใจเป็นอย่างดีว่าทุกคนรักท้องถิ่นของตนเอง อาจมีความเห็นต่างกันบ้าง แต่ต้องไม่แตกแยก อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเห็นความสำคัญของพัฒนาภาคใต้ให้เจริญ โดยในสัปดาห์หน้ามีโครงการลงพื้นที่ดูงาน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ขอบคุณที่ทุกคนมีส่วนช่วยสนับสนุนให้มีการพัฒนาพลังงานของประเทศ
ด้านนายหลี กล่าวว่า ดีใจที่วันนี้ได้โรงไฟฟ้าเทพากลับมา พวกเราทุกคนมาด้วยใจ เพราะเห็นแก่ประโยชน์ของชาติและท้องถิ่นของตนเอง ต้องการโรงไฟฟ้าถ่านหินในท้องถิ่นเพื่อสร้างความเจริญให้กับท้องถิ่น หวังว่าหากมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ลูกหลานที่ต้องไปทำงานไกล ๆ จะได้กลับมาทำงานใกล้บ้าน ในวันนี้พวกเราพี่น้องชาวเทพาทุกคนรู้สึกประทับใจที่ท่านได้มาทำสัญญาข้อตกลงนี้ เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ โดยวันพรุ่งนี้ (29 มี.ค.) จะเดินทางกลับเทพาแล้ว
สำหรับบันทึกข้อตกลงระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและเครือข่ายคนเทพาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน มีสาระสำคัญดังต่อไป ฝ่ายสนับสนุนการสร้างโรงไฟฟ้าเทพายินดีให้มีการจัดทำการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ โดยมีคณะกรรมการที่เป็นกลาง และมีกระบวนการทำงานตามหลักสากลที่เป็นกลาง การทำ SEA จะต้องให้ความสำคัญไปที่โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เนื่องจากถูกพิจารณาให้เป็นพื้นที่โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าตามแผนพัฒนาการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) มาตั้งแต่ต้นตามนโยบายของรัฐบาล
ให้กระทรวงพลังงานนำข้อมูลรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ของท่าเทียบเรือสำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาที่ดำเนินการแล้วมาเป็นข้อมูลประกอบการจัดทำ SEA หากผลการศึกษา SEA ได้ข้อสรุปให้สามารถสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาได้ ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบ EHIA โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาที่มีอยู่แล้วยื่นต่อ สผ. และดำเนินการศึกษารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบ EHIA ของทำเนียบเรือสำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาให้เสร็จภายใน 1 ปี และหากผลการศึกษา SEA ไม่เห็นชอบกับการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เทพา ให้ กฟผ.พิจารณาพื้นที่อื่นที่เหมาะสมในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินต่อไป.-สำนักข่าวไทย