กรุงเทพ ฯ 28 มี.ค.- กนง.เสียงแตกเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี คงดอกเบี้ยร้อยละ 1.50 ชี้ยังจำเป็นใช้ดอกเบี้ยต่ำหนุนเศรษฐกิจโต ปรับเพิ่มจีดีพีปีนี้โตร้อยละ 4.1
นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. กล่าวว่า ที่ประชุม กนง. มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี โดย 1 เสียงให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 จากร้อยละ 1.50 เป็นร้อยละ 1.75 ต่อปี เนื่องจากกรรมการ 1 ท่าน เห็นว่าภาวะการเงินที่ผ่อนคลายอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจส่งผลให้ประชาชนและภาคธุรกิจประเมินความเสี่ยงในอนาคตต่ำกว่าที่ควร และเห็นว่าการลดระดับการผ่อนคลายนโยบายการเงินลงบ้างไม่เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่กรรมการส่วนใหญ่ เห็นว่านโยบายการเงินควรผ่อนคลายต่อไป เพื่อช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ และเอื้อให้เงินเฟ้อกลับสู่กรอบเป้าหมายได้แม้อาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง
นอกจากนี้ ที่ประชุม กนง.ยังปรับเพิ่มอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยปีนี้ ขยายตัวร้อยละ 4.1 ดีกว่าที่ประเมินไว้เดิมที่คาดว่าโตร้อยละ 3.9 โดยเฉพาะการส่งออกขยายตัวร้อยละ 7 จากเดิมคาดโตร้อยละ 4 และการท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่องคาดมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทย 37.6 ล้านคน ส่วนเศรษฐกิจไทยในปี 2562 คาดว่าขยายตัวร้อยละ 4.1
ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นช้ากว่าที่คาด อยู่ที่ร้อยละ 1 เนื่องจากผลกระทบจากราคาอาหารสด โดยเฉพาะเนื้อหมู และ ผักสด ที่ลดลงมากกว่าคาด โดยอาหารสดและ อาหารสำเร็จรูป มีสัดส่วนในการคำนวณเงินเฟ้อประมาณร้อยละ 30 อย่างไรก็ตาม กนง.ยังเชื่อว่าเงินเฟ้อจะเข้าสู่กรอบล่างประมาณร้อยละ 1 ในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้
“การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังไม่กระจายตัว กำลังซื้อแรงงานผู้มีรายได้ต่ำยังไม่ฟื้นตัว เนื่องจากผลตอบแทนจากการจ้างรายวัน และมีการโยกย้ายแรงงานไปภาคบริการมีอัตราค่าจ้างงานต่ำกว่าภาคผลิต หลังผู้ประกอบการหันมาใช้เครื่องจักรแทนแรงงานคนในภาคการผลิต” นายจาตุรงค์ กล่าว
นายจาตุรงค์ กล่าวว่า ยังจับตาปัจจัยเสี่ยงสงครามการค้าโลก ซึ่งมีความไม่แน่นอนสูง ทั้งผลกระทบจากการขึ้นภาษีเหล็ก และ อะลูมิเนียม จากสหรัฐ และ มาตรการตอบโต้จากคู่ค้าของสหรัฐ ที่อาจส่งผลลบต่อการค้าโลก และการส่งออกไทย – สำนักข่าวไทย