ขอนแก่น 28 มี.ค.-มันเทศญี่ปุ่นเพิ่งเข้าไปเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ของชาวขอนแก่น ตั้งแต่ช่วงกลางปีที่แล้ว โดยจำหน่ายได้ทั้งยอดใบและหัวมัน ในอนาคตอันใกล้ยังจะสามารถจำหน่ายก้านเครือได้ด้วย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอมัญจาคีรี ได้เข้าไปส่งเสริมให้ชาวบ้านทำเกษตรผสมผสานเพื่อเพิ่มรายได้ และลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาพืชเพียงชนิดเดียว
ญาติและเพื่อนบ้านกำลังช่วยกันตัดยอดมันเทศญี่ปุ่นพันธุ์โอกินาวา 2,000 ต้น ในพื้นที่ 2 งาน ของนายมีชัย แสงสุข เกษตรกรบ้านหนองสองห้อง ตำบลนางาม อำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น โดยซื้อพันธุ์มาจากโรงงานยอดละ 10 บาท มาปลูกในแปลงดินร่วนปนทราย ให้น้ำและฉีดฮอร์โมนบำรุงใบสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง ราว 2 เดือนครึ่ง ก็เก็บผลผลิตได้ แต่ละต้นที่เกิดจากยอดแม่พันธุ์จะให้ 30-40 ยอด มีการทำสัญญารับประกันยอดละ 4.50 บาท ส่วนหัวมันทางโรงงานรับซื้อนอกสัญญากิโลกรัมละ 20 บาท หลังผลิตยอดได้มาตรฐานแล้ว สัญญาฉบับต่อไปจะรับประกันหัวมันกิโลกรัมละ 30 บาท ยอดจะปรับลงเหลือ 1.70 บาท และในเร็วๆ นี้ยังจะสามารถขายก้านเครือได้ด้วย
เกษตรกรครอบครัวนี้ปลูกมันเทศญี่ปุ่นเป็นรอบที่ 2 แล้ว รอบแรกลงทุนค่าพันธุ์ 20,000 บาท ในพื้นที่ 2 งาน จำหน่ายผลผลิตได้เกือบ 70,000 บาท เปรียบเทียบสัดส่วนในพื้นที่ 1 ไร่ ให้ผลตอบแทนเท่ากับอ้อย 10 ไร่ เพื่อนบ้านจึงทำตามกันหลายครอบครัว หลังตัดยอดแล้วยังต้องตัดแต่งยอดให้สวยงาม โดยใช้แรงงานในหมู่บ้าน ทั้งจ้างรายวันและลงแขกในกลุ่มผู้ปลูกมันเทศญี่ปุ่นด้วยกัน ทำให้ผู้สูงอายุมีกิจกรรมทำคลายเครียด และสร้างความสามัคคีในกลุ่มชาวบ้าน
มันเทศญี่ปุ่นเข้ามาเป็นพืชเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคเหนือเกือบ 10 ปีแล้ว แต่เพิ่งมาทดลองปลูกในภาคอีสานได้ไม่นาน โดยพบว่าให้ยอดสวยและหัวสมบูรณ์กว่า อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น ได้ลงพื้นที่ให้ความรู้และส่งเสริมการทำเกษตรผสมผสาน เพื่อกระจายความเสี่ยง สร้างภูมิคุ้มกัน และให้เกษตรกรมีรายได้หมุนเวียนตลอดทั้งปี.-สำนักข่าวไทย