กรุงเทพฯ 26 มี.ค.–ป.ป.ส.จับมือ รพ.รามาฯ ลงนามร่วมดำเนินงานด้านพิษวิทยาของยาเสพติด หลังพบนักเสพใช้ยาหมอแทนยาเสพติด ประเภทยาแก้ปวด แก้แพ้ นิยมสุด ซึ่งควบคุมการขายยากเพราะเป็นยาที่ซื้อขายทั่วไป
นายศิรินทร์ยา สิทธิชัย เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (เลขาธิการ ป.ป.ส.) และ ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วย การประสาน สนับสนุนข้อมูลและการดำเนินงานด้านพิษวิทยาของยาเสพติด ระหว่างหน่วยงานหลักด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ยาเสพติดกับหน่วยงานทางวิชาการและการปฏิบัติการที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเกี่ยวกับพิษวิทยาเพื่อประโยชน์ด้านองค์ความรู้ ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง ของยาเสพติด สารเสพติด สารเคมี วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท
ก๊าซ และการนำยารักษาโรคมาใช้ในทางที่ผิด
นายศิรินทร์ยา กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้เสพยาเสพติด นำยารักษาโรคมาใช้ใน ทางที่ผิดเพิ่มมากขึ้น ป.ป.ส.จึงเห็นความสำคัญ และความจำเป็นในการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกิด จึงได้ประสานความร่วมมือทางวิชาการจากหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเกี่ยวกับพิษวิทยาเพื่อให้ความรู้แก่ประชาชน รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง ตลอดจนวิธีการปฏิบัติตนเพื่อการป้องกันตนเองและสังคมให้ปลอดภัยจากโทษและพิษภัยของยาเสพติด สารเสพติด สารเคมี วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ก๊าซ และยารักษาโรคที่มีการนำมาใช้ในทางที่ผิด หรือมีความเชื่อผิด ๆ ในการนำยารักษามาใช้ในทางที่ผิด โดยเฉพาะยาเหลือง-เขียวที่เป็นข่าวในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ ป.ป.ส.เพิ่มความระมัดระวัง โดยให้ศูนย์พิษวิทยา มาให้คำแนะนำเพื่อจะได้ป้องกัน และรู้ทันสถานการณ์
ด้าน ศ.นพ.วินัย วนานุกูล หัวหน้าศูนย์พิษวิทยา และรองผู้อำนวยการรพ.รามาธิบดี กล่าวว่า สำหรับยาที่ใช้ในทางการแพทย์แต่กลับมีผู้นำไปใช้ในทางที่ผิด เอาไปเสพเพื่อให้เกิดอาการมึนเมา ส่วนใหญ่ที่พบก็จะเป็นยาแก้ปวด ที่ชื่อว่า‘ทรามาดอล’หรือที่เรียกติดปากกันว่า ยาเขียว-เหลือง ปกติจะกินครั้งละ1 เม็ดวันละ 3 เวลา แต่คนที่นำไปเสพจะกินครั้งละไม่ต่ำกว่า 20 เม็ด โดยจะกินพร้อมกับน้ำอัดลมประเภทโคล่า กินแล้วมีอาการง่วง ซึม หากรับเกินขนาดอาจถึงขั้นชัก และเสียชีวิตในที่สุด
นอกจากนี้ยังพบว่ามีการนำยาประเภทแก้แพ้ ประเภท แพ้อากาศ แก้เมารถเมาเรือ รวมถึงยาที่ใช้ในทางจิตเวชที่มีฤทธิ์ทางประสาท กินแทนสารเสพติด เพราะคุณสมบัติมีลักษณะคล้ายกับมอร์ฟีน กินเข้าไปในปริมาณมากๆจะมีการการนิ่งซึม เหม่อลอย ยอมรับว่าที่ผ่านมามียาหลายตัวที่กระทรวงสาธารณสุขควบคุม และไม่ให้จำหน่ายหากไม่มีคำสั่งจากแพทย์
ส่งผลให้คนที่มีความเข้าใจผิด พยายามหลีกเลี่ยงใช้ยาตัวอื่น ซึ่งยาที่กล่าวก็เป็นยาที่คนทั่วไปต้องใช้ สามารถซื้อนำไปใช้ได้ตามปกติ จึงน่าเป็นห่วง เพราะกระบวนการควบคุมไม่ให้ตกไปถึงมือคนกลุ่มนี้ก็ทำได้ยากขึ้น การมาร่วมมือกับ ป.ป.ส.ครั้งนี้เชื่อว่าจะเป็นการเริ่มต้นที่ดีในการร่วมกันสกัดกั้นความเชื่อผิดๆแยกยาเสพติด ออกจากยารักษาโรค. – สำนักข่าวไทย