กรุงเทพฯ 25 มี.ค.-หลังมีการพบสุนัขติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่เขตสวนหลวง กทม. จนมีการประกาศเป็นพื้นที่ระบาดโรคพิษสุนัขบ้าชั่วคราว ปศุสัตว์ลงพื้นที่ฉีดวัคซีนให้สุนัขและแมวในรัศมี 5 กิโลเมตรแล้วกว่า 200 ตัว และเฝ้าระวังต่อเนื่องไปจนถึง 22 เมษายนนี้ ขณะที่มีคำยืนยันจากผู้พักอาศัยในย่านนั้นว่า สุนัขที่ติดเชื้อตัวดังกล่าวไม่เคยกัดใคร
“หมูหยอง” คือชื่อของเจ้าแมวอายุ 8 ปี ตัวนี้ เจ้าของเพิ่งพาไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ที่เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์มาตั้งโต๊ะให้บริการภายในซอยอ่อนนุช 36 เขตสวนหลวง หลังมีการพบสุนัขติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าภายในซอยนี้ ทำให้เจ้าของคลายกังวลไปได้บ้าง
พื้นที่บริเวณซอยอ่อนนุช 36 เขตสวนหลวง ภายในรัศมี 5 กิโลเมตร ถูกประกาศให้เป็นจุดโรคระบาดจากโรคพิษสุนัขบ้าชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม ไปจนถึง 22 เมษายนนี้ โดย กทม.ชี้แจงว่า มีประชาชนนำสุนัขที่ถูกรถชนในพื้นที่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ มายังบ้านพักในซอยนี้ และนำไปรักษา กลับพบว่าสุนัขดุร้ายขึ้น ก่อนตายลง เมื่อส่งตรวจเชื้อเมื่อ 21 มีนาคมพบว่าผลเป็นบวก เมื่อวานนี้เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ลงพื้นที่ฉีควัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้ครอบครัวที่นำสุนัขตัวดังกล่าวมารักษา และฉีดวัคซีนให้สัตว์เลี้ยงทั้งสุนัขและแมวในซอยนี้
อย่างเจ้าตัวนี้ชื่อ “ตะวัน” ปีนี้อายุ 8 ปีแล้ว เมื่อวานก็ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เช่นเดียวกับสุนัขทุกตัวที่อยู่ตรงนี้ เมื่อวานฉีดไปเกือบ 200 ตัว หลังจากนี้หน่วยงานเกี่ยวข้องจะลงพื้นที่ให้ความรู้ประชาชนและติดตามผู้อาจถูกสุนัขกัดในรัศมี 5 กิโลเมตร
เจ้าของตะวันบอกว่า เลี้ยงสุนัขและแมวรวมกันมากกว่า 50 ตัว ส่วนใหญ่เป็นสุนัขและแมวจรจัดที่คนนำมาทิ้งไว้ บางทีมาวางไว้ถึงหน้าประตูบ้าน ก็เลี้ยงดูและพาไปฉีดวัคซีนครบทุกตัว เธอมีโอกาสได้พูดคุยกับครอบครัวเพื่อนบ้านที่นำสุนัขที่ติดเชื้อมารักษา ยืนยันว่าสุนัขตัวดังกล่าวไม่เคยกัดใคร เจ้าของไม่เคยปล่อยออกมานอกบ้าน และค่อนข้างเครียดต่อข่าวที่เกิดขึ้น
ผอ.สำนักอนามัย ให้ข้อมูลว่า หลังเกิดเหตุการณ์ขึ้นได้ร่วมกับสำนักงานเขตสวนหลวง เฝ้าระวังออกสำรวจพื้นที่พบสุนัขและแมวจรจัดจำนวนมาก อย่างตลาดต่างๆ มักมีสุนัขที่พ่อค้าแม่ค้าให้อาหาร และไม่ยอมให้จับสุนัขไป จึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจว่านำไปทำหมันฉีควัคซีน และให้มารับกลับไปได้ภายใน 2 สัปดาห์ ที่สำคัญขณะนี้พบสุนัขจรจัดตามไซต์งานก่อสร้างเพิ่มขึ้น จากคนงานที่เลี้ยงไว้ และเมื่อย้ายไซต์งานก็ไม่นำสุนัขไปด้วย
กทม.จึงเข้าไปรณรงค์ให้ความรู้ในการเลี้ยงอย่างมีความรับผิดชอบ รวมทั้งสุนัขที่มีเจ้าของด้วย ข้อมูลล่าสุดระบุว่า กทม.มีสุนัขจรจัดกระจายไปตามชุมชนไปในเขตต่างๆ ราว 100,000 ตัว ถือเป็นจำนวนที่ค่อนข้างสูง.-สำนักข่าวไทย
ชมผ่านยูทูบ