สำนักข่าวไทย 25 มี.ค. หมอธีระวัฒน์ ส่งสัญญาณ เตือน ห่วงปัญหาไข้หวัดนก หลังพบ เสือปลา ป่วยตาย หวั่นเกิดการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรม วอนกรมปศุสัตว์ เร่งแจงข้อมูลไข้หวัดนก
ศ.นพ.ธีรวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวถึงสถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีก ว่า เวลานี้นับว่าน่าเป็นห่วงเนื่องจากขณะนี้พบสถานการณ์ ที่สวนสัตว์โคราช มีสัตว์อื่นนอกจากสัตว์ปีกล้มตาย เช่น เสือปลา และอื่นๆแสดงให้เห็นถึงการปรับเปลี่ยนรหัสพันธุกรรมให้สามารถติดสัตว์ตระกูลใหม่ได้ และเป็นการเตือนที่สำคัญ ของการที่เชื้อโรคอาจติดเข้าสู่มนุษย์ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในประมาณ เดือนสิงหาคมกันยายน และตุลาคม ของปี 2560 และเท่าที่ทราบจากการประชุมร่วมกันของกลุ่มควบคุมโรคและกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็ได้มีข้อมูลถึงการติดเชื้อในหลายจังหวัดแต่สามารถควบคุมได้ทันท่วงที ลักษณะของการปรับเปลี่ยนรหัสพันธุกรรมเหล่านี้สามารถเห็นประจักษ์ชัดได้จากการที่มีรายงานในประเทศจีนถึงไข้หวัดนก H7 N4 ในคน ซึ่งแม้มีอาการไม่มากมาย แต่ทางการจีนได้ออกประกาศทั่วไป ส่วนฮ่องกงได้ออกมาตรการเข้มงวด ซึ่งในขณะนั้นเป็นเทศกาลตรุษจีนในเดือนกุมภาพันธ์ 2561
ศ.นพ.ธีรวัฒน์ กล่าวอีกว่า เรื่องนี้หน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างกรมปศุสัตว์ ควรจะต้องมีการแจ้งเตือนเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ตระหนักถึงความเสี่ยงในโรคต่างๆ เพราะปัจจุบันยัง ไม่มีใครทราบถึงเรื่องไข้หวัดนกในสัตว์ปีก และประกาศจากกระทรวงสาธารณสุข ถึงโรงพยาบาลในสังกัดเป็นการแจ้ง ให้คนที่มีอาการไข้หวัดใหญ่ ต้องเฝ้าระวังไข้หวัดนกเท่านั้น ดังนั้นระดับความระวังในการแยกคนป่วยจะมีระดับความเข้มข้นต่างกันอย่างชัดเจน เพราะคำเตือนเหล่านี้มีมาตลอดไม่ว่าจะเป็น โรคซิกา โรค เมอร์ส MERS และในช่วง 2-3 ปีที่แล้ว คือ อีโบล่า ซึ่งหากมีการเผยแพร่ บอกกล่าวสถานการณ์ ข้อมูลที่เกิดขึ้น จริง เรื่องไข้หวัดนกในสัตว์ปีก จะทำให้บุคลากรทางสาธารณสุขเกิดการตระหนัก และเฝ้าระวังโรคได้ดียิ่งขึ้น
ซึ่งเรื่องการแพร่ระบาดเข้าสู่คน และการควบคุมไม่ให้เกิดโรคในคน แม้จะมีอาการแค่เพียงเล็กน้อยนิดก็ถือเป็นเรื่องสำคัญที่บุคคลากรสาธารณสุข และสังคมต้องรู้ ในอนาคตหากมีคนจำนวนมากขึ้นที่ติดเชื้อไข้หวัดนก ในที่สุดโรคจะพัฒนาความรุนแรงขึ้นเรื่อยเรื่อยจนเสียชีวิต เช่น ในกรณีของ H5N1 หรือ H7N9 และที่เป็นภัยพิบัติอย่างใหญ่หลวงซึ่งจะลามจากเพียงจุดเดียวไปทั่วโลก คือ การติดต่อจากคนสู่คน. – สำนักข่าวไทย