กรุงเทพฯ 23 มี.ค. – กระทรวงอุตสาหกรรม-ท่องเที่ยวฯ-เอสเอ็มอีแบงก์ ผนึกกำลังเสริมความแข็งแกร่งผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว
นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และนายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือภายใต้โครงการส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว ระหว่างกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมและธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์
สำหรับความร่วมมือครั้งนี้จะบูรณาการส่งเสริมศักยภาพให้กับผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งเป็นผู้ประกอบการส่วนใหญ่ เช่น ผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยว ผู้ประกอบการโรงแรม ผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวและแหล่งท่องเที่ยวชุมชน เป็นต้น ให้สามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันท่ามกลางสภาวะการที่ตลาดธุรกิจทางด้านการท่องเที่ยวมีการขยายตัวอย่างสูงและเป็นอุตสาหกรรมหลักที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ
นายสมชาย กล่าวว่า 4 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 1 ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยขยายตัวดีขึ้นที่ร้อยละ 3.9-4.0 สูงสุดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ต่างประเทศให้การยอมรับประเทศไทยมากขึ้น ทั้งด้านจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นกว่าปีละ 35 ล้านคนในปีที่ผ่านมา สร้างรายได้จำนวนมากเข้าประเทศ ขณะที่นักลงทุนจากต่างประเทศให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือ อีอีซีเพิ่มขึ้น และการที่รัฐบาลมีนโยบายเสริมสร้างความแข็งแกร่งเศรษฐกิจฐานรากหรือ Local Economy ในส่วนของของกระทรวงอุตสาหกรรมมีโครงการพัฒนาหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้มีรายได้เพิ่มขึ้น พร้อมการช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนให้มีคุณภาพมาตรฐานและพัฒนาสู่ตลาดโลกต่อไป สำหรับความร่วมมือของ 3 หน่วยงานครั้งนี้จะทำให้องคาพยพในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกิจการด้านท่องเที่ยว ทั้งนี้ เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโตแบบอินคลูซีฟ
นายอนันต์ วงศ์เบญจรัตน์ อธิบดีกรมการท่องเที่ยว กล่าวว่า ภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้กรมการท่องเที่ยวจะสนับสนุนเชื่อมโยงกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเป้าหมายในการประชาสัมพันธ์และนำนักท่องเที่ยวเข้าสู่แหล่งท่องเที่ยวชุมชนและหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่กระทรวงอุตสาหกรรมและเอสเอ็มอีแบงก์ ให้การสนับสนุนและพัฒนาควบคู่กับการสนับสนุนการจัดกิจกรรม วิทยากรหรือผู้เชี่ยวชาญในการให้ความรู้ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวในด้านต่าง ๆ เช่น การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชุมชน การพัฒนาบริการท่องเที่ยวและมาตรฐานการท่องเที่ยวไทย เป็นต้น รวมถึงกิจกรรมอย่างอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการกลุ่มเป้าหมาย
ทั้งนี้ ปีที่ผ่านมานักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทย 35 ล้านคน มีการใช้จ่ายรวมกว่า 3 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นการท่องเที่ยวเมืองรองคิดเป็นเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น กรมการท่องเที่ยวต้องการให้มีสัดส่วนการเข้าไปท่องเที่ยวเมืองรองเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด โดยตั้งเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการท่องเที่ยวเมืองรองขึ้นร้อยละ 5 ต่อปี ทั้งนี้ จากการสังเกตพฤติกรรมนักท่องเที่ยวพบว่าส่วนใหญ่ชอบท่องเที่ยวทะเล การที่จะดึงนักท่องเที่ยวออกไปท่องเที่ยวเมืองรองได้นั้น จำเป็นต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับและต้องเป็นกระแสด้วยจึงจะเติบโตได้ ดังนั้น จึงอยากให้การท่องเที่ยวเปลี่ยนแปลงไปเป็นลักษณะของการมาเที่ยวครั้งแรกเที่ยวทะเลและครั้งต่อไปให้เปลี่ยนบรรยากาศไปเที่ยวเมืองรองตามหัวเมืองต่าง ๆ ซึ่งเมืองรองจะต้องมีการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและสิ่งอำนวยความสะดวก ๆ ที่พร้อมด้วย
นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการเอสเอ็มอีแบงก์ กล่าวว่า เอสเอ็มอีแบงก์ช่วยผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่องที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการคนตัวเล็กในชุมชนต่าง ๆ ที่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ โดยภายหลังจากการลงนามวันนี้คาดว่าจนถึงสิ้นปีจะมีผู้ประกอบการในธุรกิจเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเข้ามาใช้สินเชื่อรวมประมาณ 8,000 ราย เป็นวงเงินประมาณ 10,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ เอสเอ็มอีแบงก์ยังให้บริการสินเชื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการอีกหลายโครงการ เช่น สินเชื่อเถ้าแก่ 4.0 อัตราดอกเบี้ยพิเศษร้อยละ 1 ต่อปี ปลอดชำระเงินต้น 3 ปีแรก เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายย่อยที่มีปัญหาทางการเงินสามารถกู้ได้แม้เคยปรับโครงสร้างหนี้หรือผ่อนผันชำระไม่ต่อเนื่องมาก็ตาม สินเชื่อเศรษฐกิจติดดาวดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี ที่สามารถใช้บริการค้ำประกันสินเชื่อจากบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันฟรี 4 ปีแรก ตลอดจนโครงการอื่น ๆ ของธนาคารควบคู่กับเติมความรู้การพัฒนาธุรกิจและให้คำปรึกษาตั้งแต่การเริ่มต้นประกอบธุรกิจระบบบัญชี การตลาด ช่องทางจัดจำหน่ายและระบบขนส่งเป็นต้น
ภายหลังพิธีลงนามความร่วมมือมีการสัมมนาวิชาการส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวสู่ไทยแลนด์ 4.0 เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล.-สำนักข่าวไทย