ก.คลัง 16 มี.ค. – คลังเผยภาพรวมเศรษฐกิจไทยด้านการบริโภคภาคเอกชนยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ไตรมาส 4 ปี 60 ขยายตัวเร่งขึ้นร้อยละ 3.5 สินค้าอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ขยายตัวร้อยละ 2.2
ตามที่มีข่าวว่ากำลังซื้อทรุดหนักสุดรอบ 10 ปี โดยตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคตกต่ำมาโดยตลอด ในปี 2560 หดตัวร้อยละ 0.4 สินค้าที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ กลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่หดตัว ร้อยละ 2.4 จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว รายได้ผู้บริโภคคงที่ ขณะที่หนี้ครัวเรือนปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นนั้น นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษก ชี้แจงว่า ข้อมูลที่ปรากฏเป็นการอ้างอิงผลการศึกษาของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งสะท้อนความคิดเห็นของผู้บริโภคบางกลุ่มที่อาจไม่ครอบคลุมทุกภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ จากข้อมูลผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พบว่า การบริโภคภาคเอกชนภาพรวมขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากปี 2557 ที่ขยายตัวร้อยละ 0.8 มาสู่ปี 2560 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.2 โดยไตรมาส 4 ปี 2560 พบว่า การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวอย่างต่อเนื่องร้อยละ 3.5 โดยประเภทสินค้าที่มีการขยายตัวได้ดี ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ขยายตัวที่ร้อยละ 2.2 แบ่งเป็นการบริโภคอาหารขยายตัวที่ร้อยละ 1.8 และการบริโภคเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ขยายตัวที่ร้อยละ 4.2 สัญญาณการขยายตัวดังกล่าวยังสอดคล้องกับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการใช้จ่ายภายในประเทศไตรมาส 4 ปี 2560 ที่ขยายตัวร้อยละ 4.1 และข้อมูลการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่ม หักชาและกาแฟ เดือนตุลาคม 2560 – กุมภาพันธ์ 2561 จัดเก็บได้ 7,969 ล้านบาท สูงกว่าปีที่แล้ว 1,236 ล้านบาท หรือร้อยละ 18.36 อย่างไรก็ตาม จากแนวโน้มการใส่ใจสุขภาพของคนในปัจจุบันอาจส่งผลกระทบต่อการบริโภคสินค้า โดยเฉพาะเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลสูง
นอกจากนี้ การที่ผู้มีรายได้น้อยใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐไปซื้อสินค้าจากร้านธงฟ้าประชารัฐ และร้านอื่นในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ น่าจะส่งผลให้การบริโภคผ่านช่องทางปกติอย่างซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อลดลง โดยจากข้อมูลเบื้องต้นของกรมบัญชีกลาง พบว่า ผู้มีรายได้น้อยใช้บัตรสวัสดิการไปซื้อสินค้าจากร้านธงฟ้าประชารัฐ ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการเมื่อเดือนตุลาคม 2560 – มกราคม 2561 มูลค่ารวม 20,665 ล้านบาท
นายพรชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในระยะ 4 ปีที่ผ่านมา สะท้อนจากเศรษฐกิจปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 3.9 โดยปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องและสูงสุดในรอบ 5 ปี เงินเฟ้อปัจจุบันยังคงอยู่ในระดับต่ำ สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2560 อยู่ที่ร้อยละ 0.7 ต่อปี โดยเป็นระดับต่ำกว่าร้อยละ 1.0 ต่อเนื่อง 3 ปีติดต่อกัน และหนี้ภาคครัวเรือนมีแนวโน้มลดลง สะท้อนจากระดับหนี้ครัวเรือนต่อ จีดีพีลดลงต่อเนื่อง 7 ไตรมาสติดต่อกัน ล่าสุดไตรมาส 3 ปี 2560 อยู่ที่ร้อยละ 77.35 ของจีดีพี.-สำนักข่าวไทย