กทม. 15 มี.ค.-นักวิชาการด้านทีวีดิจิทัลมองกรณีบริษัทไทยทีวีของเจ๊ติ๋ม ทีวีพูล อาจเป็นเจ๊ติ๋มโมเดลที่ผู้ประกอบการยึดเป็นแนวทางในการฟ้อง กสทช. กลับเกิดวิกฤติขาดทุน พร้อมเสนอให้รัฐและผู้ประกอบการวางแนวทางแก้ไขร่วมกัน เพื่อป้องกันรัฐสูญเสียผลประโยชน์และรายได้จากค่าใบอนุญาตและค่าเช่าโครงข่าย
การตัดสินของศาลปกครองกลางในคดีที่นางพันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย หรือเจ๊ติ๋ม กรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท ไทยทีวี จำกัด ฟ้องคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ออกคำสั่งโดยไม่ชอบ เพิกถอนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และประกอบกิจการโทรทัศน์ และให้ชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยศาลปกครองกลางพิพากษาให้เจ๊ติ๋มชนะ และระบุถึงการทำงานของ กสทช. ที่ไม่เป็นไปตามไว้ในหนังสือชี้ชวน พร้อมให้คืนหนังสือสัญญาการชำระเงินกว่า 1,500 ล้านบาท
นักวิชาการด้านทีวีดิจิทัลให้ข้อมูลว่าคดีนี้เป็นหนึ่งในอีกหลายคดีที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลยื่นฟ้อง กสทช. ในประเด็นลักษณะเดียวกัน หลังการประมูลคลื่นความถี่ทีวีดิจิทัลไม่เป็นไปตามสัญญา เช่น การแจกคูปอง การขยายโครงข่าย จนนำไปสู่วิกฤติการขาดทุนของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล หากคดีเป็นที่สิ้นสุดอาจทำให้ผู้ประกอบที่ตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกัน ยึดแนวทางการต่อสู้คดีเช่นเดียวกับเจ๊ติ๋ม
นักวิชาการด้านทีวีดิจิทัลยังบอกด้วยว่าการตัดสินของศาลปกครองกลางในกรณีนี้ยังไม่ถือว่าเป็นการปลดล็อกวิกฤติปัญหาทีวีดิจิทัล เพราะคดียังไม่สิ้นสุด แต่ก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่ กสทช. และผู้ประกอบการจะมีการวางมาตรการและแนวทางเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ที่เป็นอยู่ เพราะหากไม่มีมาตรการที่ชัดเจน นั่นหมายถึงความเสี่ยงของภาครัฐ ถ้าผู้ประกอบการฟ้องร้องในลักษณะเดียวกับเจ๊ติ๋มก็อาจทำให้รัฐเสียผลประโยชน์และรายได้ทั้งจากค่าใบอนุญาตทีวีดิจิทัลและค่าเช่าโครงข่าย
นอกจากนี้ยังมีการเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาและเยียวยาผู้ประกอบการของนักวิชาการด้านทีวีดิจิทัลว่ารัฐบาลต้องปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์ ไม่มองว่าทีวีดิจิทัลเป็นเพียงแค่เทคโนโลยี แต่ให้มองว่าเป็นถึงอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่สร้างรายได้ พร้อมทั้งต้องช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ประสบภาวะขาดทุน เพราะนี่ถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมในประเทศ.-สำนักข่าวไทย