รร.อินเตอร์คอนฯ 14 มี.ค. – ไทยเตรียมพร้อมโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งเชื่อมโยงกลุ่ม GMS มุ่งสร้างเศรษฐกิจการค้า การลงทุนร่วมกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
ในงานสัมมนา “25ปี แผนพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (GMS) : ความสำเร็จและอนาคตท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง” จัดโดยธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ “โอกาสใหม่ของการพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงภายใต้การเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์สำคัญในภูมิภาค” ว่า ในรอบ 25 ปีที่ผ่านมาการรวมตัวภายในของกลุ่ม GMS มีเข้มแข็งมากขึ้น มีการรวมตัวของสมาชิกที่มีความแตกต่างกันทั้งในเชิงกายภาพ การค้า การลงทุน และความเชื่อมโยงของประชาชนกับประชาชนกันเอง และที่น่าสนใจ คือ แนวโน้มการเติบโตของ GMS ที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้น หลังเกิดการลงทุนในโครงการเมกะโปรเจกต์ต่าง ๆ ที่จะเชื่อมโยงประเทศในภูมิภาคเข้าด้วยกัน ถือเป็นโอกาสที่จะก้าวไปสู่การพัฒนาครั้งใหม่
ส่วนการเดินหน้าพัฒนากลุ่ม GMS ในระยะ 25 ปีข้างหน้า รัฐบาลไทยเตรียมเป็นเจ้าภาพประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง ซึ่งจะมีการหารือเพื่อกำหนดกรอบการเชื่อมโยงอนุภูมิภาคฉบับใหม่ที่จะนำแผนการพัฒนาทุกด้านมากำหนดร่วมกัน ทั้งการเชื่อมโยงรถไฟ ถนน เรือ สนามบิน อินเทอร์เน็ต พลังงาน เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน และกำหนดกฎระเบียบเปิดพรมแดน การค้าการลงทุน เชื่อมการผลิตไร้รอยต่อ รวมถึงพัฒนาบุคลากรตั้งเป้าไทยจะก้าวสู่การเป็นฐานผลิตบุคลากรสำคัญของ GMS
ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวปาฐกถาพิเศษ “25 ปีของความสำเร็จในการขับเคลื่อนเพื่อการพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง” ว่า การดำเนินงานตามแผนงานของ GMS ในรอบ 25 ปี ก่อให้เกิดความสำเร็จหลายด้านร่วมกัน ทั้งโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่ง สาธารณูปโภค เกิดการค้าการลงทุน รวมถึงการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สร้างรายได้ให้กับกลุ่มภูมิภาค GMS ได้เป็นอย่างดี ซึ่งขณะนี้กลุ่ม GMS กำลังขับเคลื่อนตามกรอบยุทธศาสตร์แผนงานการลงทุนในภูมิภาคปี 2561- 2565 หรืออาร์ไอเอฟ 2565 ฉบับล่าสุดที่มีแผนงานและโครงการกว่าร้อยละ 84 เป็นการลงทุนในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งในกลุ่ม GMS 226 โครงการ เม็ดเงินลงทุนกว่า 66,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งไทยให้ความสำคัญกับเชื่อมโยงในภูมิภาคแบบไร้รอยต่อและอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วน พ.ศ.2561 ซึ่งในแผนยังรวมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไปยังพื้นที่ชายแดน 10 เขตพัฒนา ที่จะส่งเสริมศักยภาพการเชื่อมโยงกลุ่ม GMS ทั้งการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเมย แห่งที่ 2 และอาคารด่านพรมแดน ถนนเชื่อมต่อ ก่อสร้างสะพานมิตรภาพแห่งที่ 5 (บึงกาฬ-ปากซัน) สะพานข้ามคลองพรมโหด ชายแดนไทย-กัมพูชา สถานีขนส่งสินค้า ศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้า และจุดพักรถในเมืองหลักและชายแดน รวมถึงการพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง และยังมองถึงการขนส่งระบบรางที่จะเชื่อมต่อไปยังภูมิภาคได้อย่างมีศักยภาพ
สำหรับการลงทุนในโครงการเมกะโปรเจกค์ต่าง ๆ ในกลุ่ม GMS การระดมเงินทุนยังเป็นจุดอ่อนสำคัญที่จะต้องร่วมกันสร้างกลไกการระดมทุนแบบใหม่ ด้วยการนำเทคโนโลยี นวัตกรรมมาใช้ อาทิ จัดตั้งกองทุน GMS Venture Capital รวมถึงดึงดูดนักลงทุนภาคเอกชนเข้าร่วมในโครงการสำคัญ ๆ ขณะเดียวกันต้องพิจารณาและแก้ไขข้อจำกัดด้านการค้า การลงทุน ให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนย้ายสินค้าและประชาชนข้ามแดน บูรณาการตลาด กระบวนการผลิต เพื่อเพิ่มขีดควาสามารถในการแข่งขันของอนุภูมิภาคและให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพและการเป็นระเบียงเศรษฐกิจ รวมทั้งพัฒนาแรงงานไร้ทักษะและแรงงานระดับกลางสู่แรงงานระดับสูงและจัดโครงสร้างสวัสดิการสังคมให้เหมาะสมและเท่าเทียม.-สำนักข่าวไทย