กรุงเทพฯ 13 มี.ค. – คปภ.จับตาแบงก์ขายประกันภัย ลุยตรวจเข้มในพื้นที่จังหวัดกระบี่ พบหลายแห่งหมิ่นเหม่ต่อการฝ่าฝืนประกาศ คปภ.
นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมาได้นำคณะผู้บริหาร คปภ. ประกอบด้วย รองเลขาธิการ ด้านกฎหมาย คดี และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สายส่งเสริมและประกันภัยภูมิภาค ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ ผู้อำนวยการสำนักงาน คปภ. ภาค 8 และผู้อำนวยการสำนักงาน คปภ. จังหวัดกระบี่ ลงพื้นที่ออกตรวจธนาคารพาณิชย์หลายแห่งในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ เพื่อติดตามการปฏิบัติตามประกาศ คปภ.เกี่ยวกับการขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยผ่านธนาคาร เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเกิดประสิทธิภาพและเพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ให้กับประชาชน
นายสุทธิพล กล่าวว่า จากการตรวจพบว่าภาพรวมหลายธนาคารปรับปรุงการขายผลิตภัณฑ์ประกันภัย โดยแบ่งพื้นที่การขายและมีการติดป้ายแสดงไว้อย่างชัดเจน มีการปิดแสดงข้อแนะนำประชาชน 12 ข้อ ในการซื้อผลิตภัณฑ์ประกันภัยผ่านช่องทางธนาคาร โดยเปิดเผยเพื่อให้ประชาชนผู้ใช้บริการได้ทราบ แต่พบว่าบางสาขาของธนาคารยังมีประเด็นที่หมิ่นเหม่ต่อการไม่สอดคล้องกับประกาศ คปภ. เกี่ยวกับการขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยผ่านธนาคารดังกล่าว เช่น แบบฟอร์มใบสมัครบัตรเดบิตบางธนาคารที่มีบริการประกันภัยไม่ได้ระบุค่าเบี้ยประกันแยกจากค่าธรรมเนียมบัตร ซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคสับสน อีกทั้งยังพบว่าเอกสารแนะนำผลิตภัณฑ์และแบบฟอร์มใบสมัครฯ ของบางธนาคารไม่ชัดเจน ทำให้ลูกค้าอาจเกิดความสับสนและไม่ทราบว่าผลิตภัณฑ์ที่ซื้อเป็นผลิตภัณฑ์ประกันภัย อีกทั้งการที่ธนาคารแห่งหนึ่งมีการให้บริการประกันภัยร่วมกับบัญชีเงินฝาก โดยมีการหักค่าดอกเบี้ยเงินฝากในกรณีที่มีบริการประกันภัยดังกล่าว แม้ทางธนาคารจะชี้แจงว่าไม่ใช่เป็นเบี้ยประกันภัย แต่เมื่อพิจารณาแล้วการหักดอกเบี้ยกรณีนี้สุ่มเสี่ยงต่อการถูกมองว่าเป็นการหักดอกเบี้ยเงินฝาก เพื่อนำมาชำระเป็นค่าเบี้ยประกันภัย โดยไม่ได้แจ้งลูกค้าว่ามีการชำระเบี้ยประกันภัย
ทั้งนี้ เบื้องต้นเลขาธิการ คปภ. ได้แจ้งให้ทางสาขาธนาคารดังกล่าวรีบปรับปรุง เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนแก่ประชาชนผู้ใช้บริการ พร้อมกำชับสำนักงาน คปภ. ภาค 8 และสำนักงาน คปภ. จังหวัดกระบี่ให้กลับมาตรวจติดตามบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์แก่ประชาชนให้เกิดประสิทธิภาพ จากนั้นจะมีหนังสืออย่างเป็นทางการแจ้งกรรมการผู้จัดการใหญ่ของธนาคารที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการแก้ไขเพื่อไม่ให้ผู้บริโภคสับสน สำหรับมาตรการที่จะดำเนินการกรณีที่พบว่ามีการกระทำความผิดจะใช้มาตรการจากเบาไปหาหนัก โดยมาตรการทางปกครองสูงสุด คือ เพิกถอนใบอนุญาตนายหน้าประกันภัย.-สำนักข่าวไทย