ภูมิภาค 4 ต.ค.-สถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยาหลายแห่งเริ่มทรงตัว ส่วนฝนที่ตกลงมาอย่างหนักในภาคอีสาน ทำให้หลายจังหวัดเกิดน้ำท่วม ประชาชนเดือดร้อนหนัก ด้าน จ.ยโสธร น้ำล้นตลิ่งท่วมนาข้าวเสียหายกว่าพันไร่
นี่เป็นภาพน้ำจากลำเชียงไกรไหลเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนกว่า 200 หลังคาเรือน ในตำบลโคกสูง อำเภอเมืองนครราชสีมา และทำให้นาข้าวในพื้นที่เสียหายกว่า 3,000 ไร่ ชาวบ้านต้องเดินฝ่ากระแสน้ำออกไปทำภารกิจประจำวันด้วยความยากลำบาก นอกจากนี้น้ำยังหลากเข้าท่วมบ้านเรือนในตำบลจันอัด อำเภอโนนสูง ทำให้ทางเชื่อมระหว่างหมู่บ้านถูกตัดขาดจากโลกภายนอก รถยนต์ไม่สามารถสัญจรเข้าออกได้
ส่วนที่ศรีสะเกษ หลังจากเกิดฝนตกหนักตลอดทั้งคืน ทำให้น้ำหลากเข้าท่วมถนนสายศรีสะเกษ-อุบลราชธานี บริเวณสามแยกนิกรมอเตอร์ สูง 40-60 เซนติเมตร นอกจากนี้ยังมีต้นพญาสัตบรรณขนาด 4 คนโอบหักโค่นลงมาทับรั้วภายในบ้านพักอัยการจังหวัดฯ ทำให้เสาไฟฟ้าหัก 3 ต้น ส่งผลให้พื้นที่ใกล้เคียงไฟฟ้าดับ เจ้าหน้าที่ต้องใช้เลื่อยยนต์เข้าตัดกิ่งไม้เพื่อเคลียร์พื้นที่
ขณะที่ปริมาณน้ำชีพื้นที่จังหวัดยโสธร เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก และมีน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมนาข้าวในตำบลหัวเมือง อำเภอมหาชนะชัย สูงกว่า 1 เมตร กินพื้นที่กว่า 1,000 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นข้าวที่เพิ่งออกรวง เสียหายทั้งหมด
ที่พิษณุโลก หลังฝนตกหนักช่วงเช้ามืด ทำให้มีน้ำท่วมบนถนนสายหลักในเขตเทศบาลสูง 30-50 เซนติเมตร รถเล็กสัญจรไปมาลำบาก เจ้าหน้าที่ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำน่านและคลองสาขา
เช่นเดียวกับนครสวรรค์ หลังเกิดฝนตกหนัก รวมถึงมวลน้ำเหนือได้ไหลมาสมทบ ทำให้น้ำในแม่น้ำน่านล้นตลิ่ง อีกทั้งกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวได้พังทลายคันดินที่ชาวนาสร้างไว้ ทำให้พื้นที่นาข้าวใน 4 ตำบลของอำเภอชุมแสง จมบาดาลกว่าหมื่นไร่ และท่วมบ้านเรือ 300 หลัง
ส่วนสถานการณ์ลุ่มเจ้าพระยา ล่าสุดที่ชัยนาท พบว่าน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำสะแกกรังที่ไหลมารวมกันที่อำเภอมโนรมย์ เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ทำให้ท้ายเขื่อนระบายน้ำเพิ่มขึ้น 73 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที อยู่ในอัตรา 1,717 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนเพิ่มขึ้น 10-15 เซนติเมตร โดยภาพรวมถือว่ายังทรงตัว
ด้านนายวันชัย ศักดิ์อุดมไชย อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า เกือบทุกภาคของประเทศ ยกเว้นภาคอีสาน จะต้องเผชิญกับภาวะฝนตกหนักถึงหนักมากไปจนถึงกลางเดือนตุลาคม
เช่นเดียวกับกรุงเทพมหานคร ที่ 2-3 วันนี้ฝนยังคงตกต่อเนื่องในช่วงบ่ายถึงค่ำ ปริมาณ 60-70 มิลลิเมตร อาจเกิดน้ำท่วมขังรอการระบาย พร้อมแนะให้ติดตามสถานการณ์พายุไปจนถึงต้นเดือนธันวาคม เพราะพบแนวโน้มการก่อตัวค่อนข้างมาก หลังอุณหภูมิน้ำทะเลค่อนข้างอุ่น อย่างไรก็ตาม คาดว่าภาคเหนือ ภาคกลาง และตะวันออกเฉียงเหนือ จะมีฝนถึงกลางเดือนตุลาคม หลังจากนั้นจะเข้าสู่ฤดูหนาว.-สำนักข่าวไทย