ภูมิภาค 10 มี.ค.- ชาวสงขลาหวั่นสุนัขจรจัดที่ถูกนำมาทิ้งตามวัด สร้างปัญหากับนักท่องเที่ยว วอนเร่งแก้ปัญหา ส่วนที่ จ.สุราษฎร์ธานีพิษสุนัขบ้าระบาด 2 อำเภอ ห่วงนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยววัดโดนสุนัขกัด ด้าน สสจ.สั่งการทุกโรงพยาบาลต้องพร้อมฉีดวัคซีนให้กับผู้ป่วยที่ถูกสุนัขกัดโดยไม่ต้องสอบถามเรื่องสิทธิในการรักษา
สถานการณ์การระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า ที่มีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 1 ราย และพบว่าการนำหัวสุนัขส่งตรวจในห้องปฏิบัติ พบว่าหัวสุนัขติดเชื้อพิษสุนัขบ้ากระจายอยู่ทั้ง 16 อำเภอ สร้างความกังวลให้กับประชาชนที่ทราบข่าวอย่างมาก โดยเฉพาะวัดที่มีสุนัขจรจัด ถูกนำมาทิ้งเอาไว้ อย่างที่วัดแหลมพ้อ ตำบลเกาะยอ อำเภอเมืองสงขลา มีสุนัขจรจัดจำนวนมาก และไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า จึงเกรงจะกัดประชาชนและนักท่องเที่ยว ที่ในแต่ละวันจะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในวัดแห่งนี้จำนวนมาก ทางวัดและประชาชนที่ขายของอยู่ จึงต้องการให้มีการฉีดวัคซีนหรือนำสุนัขจรจัดออกจากวัดไปเลี้ยงที่อื่นอย่างเร่งด่วน
นพ.อุทิศศักดิ์ หริรัตนกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา สั่งการให้โรงพยาบาลทุกแห่งมีความพร้อมในเรื่องของวัคซีน สำหรับฉีดให้กับผู้ป่วยที่ถูกสนัขกันได้ทันที โดยไม่ต้องสอบถามในเรื่องของสิทธิในการรักษา เมื่อมีผู้ป่วยถูกสุนัขกัดในพื้นที่ไหนก็สามารถเข้ารับวัคซีนได้ที่โรงพยาบาลในพื้นที่นั้นๆ ได้ทันที ขณะนี้พบผู้ป่วยเสียชีวิตแล้ว 1 ราย ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าปีนี้จะมีการระบาดของโรคเพิ่มขึ้น 1.5 เท่า ส่วนตัวมองว่าการควบคุมสุนัขจรจัดยังทำได้เต็มที่ อัตราคนเลี้ยงสุนัขนำสุนัขที่เลี้ยงไว้มาฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ายังต่ำอยู่ ซึ่งจะต้องส่งเสริม รณรงค์ให้ผู้เลี้ยงนำสัตว์เลี้ยงมาฉีดวัคซีนให้ครบ 100 เปอร์เซ็นต์ ที่สำคัญต้องตระหนักร่วมกันหากมีผู้ถูกสุนัขกัดต้องรีบพบแพทย์ เพื่อรับวัคซีนโดยเร็วที่สุด
ขอนแก่นนำสุนัขและแมวมาฉีดวัคซีน
หลายพื้นที่ของจังหวัดขอนแก่นละจังหวัดใกล้เคียงในพื้นที่ภาคอีสานตอนบน พบสุนัขป่วยเป็นโรคพิษสุนัขบ้า และประกาศเป็นพื้นที่เฝ้าระวังการระบาดนั้น ที่โรงพยาบาลสัตว์ คณะสัตวแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเปิดให้บริการฉีดวัคซีนปัองกันโรคสุนัขบ้าฟรีให้กับประชาชน กลุ่มรักสัตว์เลี้ยงทั้งสุนัข แมว จากจังหวัดขอนแก่น-อุดรธานี-กาฬสินธุ์ และจังหวัดอื่นๆ เดินทางนำสัตว์เลี้ยงมาฉีดวัคซีนป้องกันโรคดังกล่าวกันเป็นจำนวนมาก
รศ.นสพ.ดร ชูชาติ กมลเลิศ คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ทางโรงพยาบาลสัตว์ฯ ตระหนักถึงการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง หากประชาชนป่วยด้วยโรคนี้แล้ว มีอัตราการเสียชีวิตสูง ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกัน หรือตัดวงจรการระบาด ทางโรงพยาบาลสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงได้เปิดทำการฉีดวัคซีนให้กับสุนัข และแมว ของประชาชนที่อยู่ในจังหวัดขอนแก่น และจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งเปิดให้บริการมาตั้งแต่วันจันทร์ที่ผ่านมา จนถึงวานนี้ (9 มี.ค.) มียอดการฉีดวัคซีนมากกว่า 900 ตัว ขณะทางโรงพยาบาลได้มีการเตรียมวัคซียไว้ฉีดให้กับสุนัขและแมว เพื่อป้องกันการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าไว้จำนวน 1,200 โดส
อุดรฯ รณรงค์ฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้า
ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.อุดรธานี ที่ชุมชนบ้านห้วย 1 เขตเทศบาลนครอุดรธานี นายสัตว์แพทย์ปณิธาน ศิริสถิตย์ หัวหน้ากลุ่มงานสัตว์แพทย์ เทศบาลนครอุดรธานี พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่รณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าภายในชุมชนเขตเทศบาลนครอุดรธานี โดยมีประชาชนทยอยนำสัตว์เลี้ยง ทั้งสุนัข แมว และกระต่าย มาทำการฉีดวัคซีน แม้ในเขตเทศบาลเมืองยังไม่มีรายงานการพบสัตว์เลี้ยงติดเชื้อพิษสุนัขบ้า แต่ขณะนี้เข้าสู่ช่วงฤดูร้อน จึงจำเป็นต้องกระตุ้นให้ประชาชนเห็นความสำคัญ และนำสุนัขที่อยู่ในความดูแลไปรับการฉีดวัคซีนให้มากที่สุด ทำให้สุนัขมีภูมิคุ้มกันต่อโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งจะช่วยลดอัตราการเกิดโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ลง โดยจะลงพื้นที่รวม 104 ชุนชน คาดว่ามีสุนัขและแมวลงทะเบียน มารับวัคซีนฟรี 4,414 ตัว
สุราษฎร์ธานีพิษสุนัขบ้าระบาด 2 อำเภอ
จ.สุราษฎร์ธานี เริ่มมีโรคพิษสุนัขบ้าระบาดในพื้นที่หลายอำเภอแล้ว เนื่องจากสภาพอากาศร้อนจัด ล่าสุดพบ 2 อำเภอคือ อ.พระแสง กับ อ.บ้านนาสาร
ด้านนายเดชา จิตรภิรมย์ ปศุสัตว์จังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า เรื่องของการควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าในส่วนของจังหวัดสุราษฎร์ธานีในปีนี้ พบโรคสุนัขบ้าในสัตว์จำนวน 3 จุด ที่อำเภอพระแสง 1 จุด และที่อำเภอบ้านนาสาร 2 จุด โดยทางสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ให้ความสำคัญในส่วนนี้ ในการควบคุมป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า โดยเข้าไปดำเนินการในพื้นที่จุดเกิดโรคทั้ง 3 จุดด้วยกัน คือเข้าไปแจกวัคซีน ผ่าตัดทำหมัน และหลังจากนั้นจะเข้าไปดำเนินการฉีดวัคซีนบริเวณโดยรอบ ให้ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด อีกทั้งยังได้ออกรณรงค์ทั้งจังหวัด เป็นระยะเวลา 2 เดือน คือระหว่างเดือนมีนาคม-เมษายน 2561 ซึ่งมีความมั่นใจว่าจะสามารถควบคุมโรคได้อย่างครอบคลุมทุกพื้นที่ นอกจากนี้ ขอประชาสัมพันธ์ไปยังพี่น้องประชาชนที่เลี้ยงสุนัขและแมว ขอความร่วมมือให้นำสัตว์เลี้ยงตั้งแต่อายุ 2 – 4 เดือนไปฉีดวัคซีน หลังจากนั้น ก็ต้องฉีดกระตุ้นทุกปี เพราะการป้องกันเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะหากเป็นโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว ไม่สามารถที่จะรักษาให้หายได้ จะทำให้เสียชีวิตทั้งในคนและสัตว์ และขอฝากให้พี่น้องประชาชนได้ระวังและดูแลตัวเองไม่ให้ถูกสุนัขหรือแมวกัด เพราะจะทำให้เสี่ยงต่อโรคได้.-สำนักข่าวไทย