กรุงเทพฯ 8 มี.ค. – สสว.คาดจีดีพีเอสเอ็มอีปีนี้โตร้อยละ 5-5.5 สูงสุดเป็นประวัติการณ์ พร้อมจัดงบบูรณาการ 3,800 ล้านบาท เดินหน้าพัฒนาเอสเอ็มอีสู่ธุรกิจ 4.0 ภายใต้นโยบาย “พลิกเอสเอ็มอีสู่อนาคต” คาดสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ 90,000 ล้านบาท
นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว.ประเมินว่าการเติบโตจีดีพีเอสเอ็มอีไตรมาสแรกปี 2561 จะขยายตัวร้อยละ 5.1 และทั้งปีจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 5-5.5 สูงสุดเป็นประวัติการณ์ของการจัดทำ เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่ขยายตัวร้อยละ 5.1 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากสาขาการก่อสร้างที่มีแนวโน้มกลับมาขยายตัวสูงอีกครั้งจากโครงการลงทุนขนาดใหญ่ด้านโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่คาดว่าจะเริ่มดำเนินการปีนี้อีกครั้ง รวมทั้งแนวโน้มการบริโภคภายในประเทศ รวมถึงภาคการท่องเที่ยวที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องจะส่งผลดีต่อการค้าและภาคบริการที่ เอสเอ็มอีมีบทบาทอยู่มาก
สำหรับจีดีพีเอสเอ็มอีไตรมาสสุดท้ายของปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 6.1 สูงสุดในรอบ 11 ไตรมาส ส่งผลให้ตลอดปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 5.1 สูงกว่า สสว.ประเมินไว้ว่าจะขยายตัวร้อยละ 5 แม้ว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าลดลง จีดีพีเอสเอ็มอีมีมูลค่ากว่า 6.55 ล้านบาท มีสัดส่วนต่อจีดีพีประเทศไทยคิดเป็นร้อยละ 42.2 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่มีสัดส่วนที่เป็นร้อยละ 42.1 ปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ การเติบโตของภาคการค้าและภาคบริการเฉพาะด้านการท่องเที่ยว ซึ่งเอสเอ็มอีมีบทบาทค่อนข้างสูง โดยสาขาธุรกิจที่ขยายตัวเร่งขึ้นจากไตรมาสก่อน ได้แก่ ธุรกิจโรงแรมและภัตตาคาร ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.3 ธุรกิจการขนส่งและการคมนาคมร้อยละ 8.9 ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ร้อยละ 5.6 รวมทั้งภาคการค้าปลีกค้าส่งขยายตัวเร่งขึ้น จากร้อยละ 6.4 เป็นร้อยละ 6.9 ในไตรมาสสุดท้ายปี 2560
นายสุวรรณชัย กล่าวว่า ปีนี้ สสว.เป็นเจ้าภาพจัดทำงบประมาณลักษณะบูรณาการด้านการส่งเสริมเอสเอ็มอีของประเทศต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 โดยประสานความร่วมมือกับ 25 หน่วยงาน เพื่อเดินหน้าแผนบูรณาการขับเคลื่อนเอสเอ็มอีปี 2561 ด้วยวงเงินของ สสว. 1,229 ล้านบาท และเมื่อบูรณาการกับ 25 หน่วยงาน ทำให้มีงบรวม 3,810.41 ล้านบาท โดยจะดำเนินการภายใต้นโยบายพลิกเอสเอ็มอีสู่อนาคต คือ รูปแบบธุรกิจเอสเอ็มอี 4.0 และเชื่อมโยงฐานรากระดับชุมชน โดยใช้ดิจิทัลเป็นเครื่องมือขับเคลื่อน มีผู้ประกอบการได้รับประโยชน์รวม 331,315 คน โดยภาพรวมตั้งเป้าหนุนเอสเอ็มอี สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้ 90,000 ล้านบาท
สำหรับการขับเคลื่อนดำเนินการ 4 แนวทาง ประกอบด้วย 1.สร้างและพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้นและผู้ประกอบการรายใหม่หรือ Start Up วงเงิน 1,266.53 ล้านบาท ตั้งเป้าเตรียมความพร้อมสู่การเป็นเอสเอ็มอี 34,000 คน สร้างและพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้นที่มีมูลค่าสูง 7,800 กิจการ 2.ส่งเสริมเอสเอ็มอีกลุ่มทั่วไปให้มีศักยภาพมากขึ้นและให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ประสบปัญหาทางธุรกิจวงเงิน 1,086.16 ล้านบาท ตั้งเป้าพัฒนาผลิตภัณฑ์สร้างมูลค่าเพิ่ม 5,800 กิจการ เอสเอ็มอีรับการพัฒนาประสิทธิภาพการทำธุรกิจ 32,000 กิจการ ผ่านการรับรองมาตรฐาน 115 กิจการ เชื่อมโยงคลัสเตอร์ 44 เครือข่าย เอสเอ็มอีได้รับการส่งเสริมการตลาด 52,000 กิจการ และมีความพร้อมฟื้นฟูกิจการ 2,500 กิจการ
3.ส่งเสริมเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพให้มีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้นวงเงิน 1,028.93 ล้านบาท ตั้งเป้าพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงและนวัตกรรม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม 2,000 กิจการ ได้รับการพัฒนามาตรฐานระดับสากล 400 กิจการ และขยายโอกาสทางการตลาดระดับสากล 5,600 กิจการ และ 4.พัฒนาปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจเพื่อการส่งเสริมเอสเอ็มอี ( Ecosystem) 428.77 ล้านบาท. – สำนักข่าวไทย