ทำเนียบฯ 8 มี.ค.-กพช.มีมติปรับลดอัตราการส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน จาก 0.25 บาทต่อลิตร เหลือ 0.10 บาทต่อลิตร เป็นเวลา 2 ปี
นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน แถลงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 1/2561 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาวาระสำคัญเรื่องการปรับลดอัตราการส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน โดยมีมติชอบการปรับลดอัตราการส่งเงินเข้ากองทุนฯ ตามที่คณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานเสนอ จากปัจจุบันที่เก็บ 0.25 บาทต่อลิตร คงเหลือ 0.10 บาทต่อลิตร ลดชั่วคราวเป็นระยะเวลา 2 ปี ซึ่งในระยะเวลาดังกล่าว กองทุนฯ ยังมีเงินทุนสำรองเพียงพอที่จะสามารถดำเนินกิจกรรมตามปกติได้อย่างต่อเนื่อง
“สำหรับเงินส่วนที่ลด 0.15 บาทต่อลิตร จะสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคได้ 5,350 ล้านบาทต่อปี ซึ่งถ้าเก็บเช่นนี้ กิจกรรมกองทุนฯ จะมีเงินรายรับสำหรับใช้ตามแผนการดำเนินงานของกองทุนฯ ประมาณปีละ 10,000 ล้านบาท โดยการปรับลดอัตราการส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันเบนซิน น้ำมันแก๊สโซฮอล์ และน้ำมันดีเซล เริ่มจัดเก็บตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา และปรับอัตราการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนฯ เพิ่มขึ้นในปี พ.ศ.2563 เป็นต้นไป” นายศิริ กล่าว
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวอีกว่า ที่ประชุม กพช.มีมติรับทราบในหลักการเกี่ยวกับแนวทางการบริหารจัดการแหล่งก๊าซธรรมชาติ ที่สัมปทานจะสิ้นสุดอายุในปี 2565-2566 โดยเฉพาะเงื่อนไขหลักที่จะกำหนดในข้อเสนอของผู้เข้าร่วมประมูล ซึ่งการกำหนดพื้นที่สำหรับการประมูลแหล่งเอราวัณ ให้รวมเป็นแปลงสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่จะบริหารภายใต้สัญญาแบ่งปันผลผลิต 1 สัญญา และให้เสนอปริมาณผลิตขั้นต่ำ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 10 ปี
นายศิริ กล่าวอีกว่า ส่วนการกำหนดพื้นที่สำหรับการประมูลแหล่งบงกช ให้รวมเป็นแปลงสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่จะบริหารภายใต้สัญญาแบ่งปันผลผลิต 1 สัญญา และให้เสนอปริมาณผลิตขั้นต่ำ 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 10 ปี และให้ผู้เข้าร่วมประมูลเสนอสัดส่วนแบ่งกำไรให้แก่รัฐ ซึ่งจะต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ทั้งนี้จะประกาศเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมการประมูลในเดือนเมษายนนี้ คาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญากับผู้ชนะการประมูลได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562
ส่วนปัญหาความมั่นคงทางพลังงานในพื้นที่ภาคใต้ หลังเกิดปัญหาการคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่นั้น นายศิริ กล่าวว่า การก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน หากจะก่อสร้างจะใช้เวลาถึง 7 ปี แต่ในระยะเวลา 3-5 ปีนี้ จะยังไม่มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ เนื่องจากโรงไฟฟ้าในบริเวณใกล้เคียงยังสามารถผลิตไฟฟ้ารองรับความต้องการในพื้นที่ได้ ขณะเดียวกันจะส่งเสริมการใช้พลังงานชีวมวล เพื่อการผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้เกิดการใช้พลังงานหมุนเวียนในพื้นที่เพิ่มเติม.-สำนักข่าวไทย